ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

ณัฐ ศรีบุรีรักษ์ กวียิปซี

เขียน “ใครอยากเป็นนักเขียนยกมือขึ้น” มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

นานหลายเดือนแล้ว

โปรดพิจารณา

 

“…ข้าพเจ้าเก็บคำสอนต่างๆ ของนักเขียนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย มาผสมผสาน และกลมกลืน พร้อมตกผลึกมาเป็นความเข้าใจของตนเอง

บ่มเพาะอยู่ระยะเวลาหนึ่ง พร้อมเสิร์ฟค่ะ

1) ปลาเล็กสามารถทำให้น้ำแตกกระจายได้ นักเขียนอย่ามองข้ามจุดเล็กๆ ควรมองในสิ่งที่คนอื่นเพิกเฉย เช่น มองต้นโพธิ์น้อยที่แทรกตัวก่อเกิดที่ผนังกำแพงตึก มองแตกต่างจากผู้อื่น

2) ใส่วิตามินสมองด้วยข่าวสาร เรียนรู้ตลอดชีวิต ชีวิตต้องเดินทางเก็บเกี่ยววัตถุดิบ หาความแปลกๆ ไม่เหมือนใคร

3) สมุดน้อยกลอยใจ ควรนำติดตัวพร้อมจดสิ่งที่ผ่านตาน่าสนใจ

4) ทนกับแรงกดดัน และแรงเสียดทานต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าเกิดอะไร สามารถถ่ายทอดได้

5) ต้องยอมรับความคิด หลายมุมมองของแต่ละคนให้ได้ ความจริงบางอย่าง หรือบางแง่ อาจไม่ตรงกับประสบการณ์ผู้เขียน

6) ดวงตะวันดวงโต ทำให้สรรพชีวิตเติบโต เราไม่สามารถคาดหวังอะไรจากใครได้มากนัก เราต้องแสดงความเป็นตัวของเราเองออกมาให้มากที่สุด บริสุทธิ์ และกล้าหาญต่อความคิดของตนเอง

7) จำเป็นต้องมีปณิธานหนึ่ง เพื่อยึดเกาะให้เราสามารถยืดหยุ่นได้ลงตัว

8) ถึงแม้ความตึงเครียดจะเป็นเครื่องประดับประจำบ้าน แต่ทว่า ข้าพเจ้าต้องสามารถบังคับให้ตา ความคิด มือ ประสาน บรรจบที่ตัวอักษรให้ได้

9) ควรมีแนวคิดเพื่อส่วนรวมในการกำหนดระบบสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ

10) สัมผัสแห่งนักเขียนควรมีความพิเศษ ละเอียดอ่อน อันเป็นผลจากการมองประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นธรรมดา อย่างทะลุ ผ่านสามัญสำนึก ออกไปสู่โลกทัศน์อีกมิติที่แยบยล

จงเขียนทุกอย่างที่ขวางหน้า

แม้แต่การดื่มกาแฟในยามเช้า ละเลียดความรู้สึกออกมาให้ละมุนกรุ่นจากใจ ให้ผู้อ่านสัมผัสได้โดยตรงมากที่สุด…”

 

อย่างที่บอกตอนต้น จดหมายนี้มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์” หลายเดือนแล้ว

รอเวลาอันเหมาะสมที่จะเปิดเผยตน

และวันนี้ก็ถึงกาละอันเหมาะสมนั้นแล้ว

ด้วยจะมีการหวนกลับคืนมาของโครงการประกวดเรื่องสั้น-กวีนิพนธ์ “มติชนอวอร์ด” ปี 2565

พร้อมต้อนรับนักเขียน และนัก “อยาก” เขียน ด้วยความยินดี

มาเติมพลังเขียน

เสริมพลังอ่านกันอีกครั้ง

 

“มติชนสุดสัปดาห์” แม้จะไม่ปฏิเสธภาวะ กระแสวรรณกรรม เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ ที่ถดถอยลงไปตามลำดับ

แต่ก็ยังเชื่อ การเขียน การอ่าน ยังคงดำรงอยู่

เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนจากกระดาษ ไปสู่โลกโซเชียลมีเดีย

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในตอนนี้ หลายคนอ่านและผลิตงานเขียนในโซเชียลมีเดีย วันละชิ้นหรือหลายชิ้น

หากนำองค์ประกอบศิลปะแห่งการเขียนเข้าไปเสริม อาจจะได้เรื่องสั้น หรือกวีนิพนธ์ดีๆ มากมาย

นี่คือปรากฏการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจ

ซึ่งถ้าหากเราเติมพลังเขียน เสริมพลังอ่าน เข้าไปอีกสักนิด

และมีเวทีกลางให้งานเหล่านี้ได้มีโอกาสสำแดง อย่างมีการบริหารจัดการสักหน่อย

ปรากฏการณ์ทางวรรณกรรม อันจะเป็นการผสมผสานของสิ่งเก่าและใหม่ ก็อาจบังเกิดขึ้น

และเราหวังว่า “โครงการประกวดเรื่องสั้น-กวีนิพนธ์ “มติชนอวอร์ด” ปี 2565

จะตอบโจทย์ตรงนี้

 

นี่จึงเป็นเสมือนการ์ดเชิญชวนให้ผู้ที่รักการเขียนการอ่านมาร่วมแสดงพลังวรรณกรรมอีกครั้ง

เป็นการร่วมพลังที่พยายามเปิดกว้าง

แม้จะมี “กรอบ” ในแง่กติกาเพื่อเป็นบรรทัดฐานร่วมในการปฏิบัติ

แต่โดยภาพรวม รูปแบบการนำเสนอ เราอยากให้มีขอบเขตน้อยที่สุด

ไม่จำเป็นต้อง “การเมือง” หากแต่สามารถส่งเสียงหรือเล่าเรื่องได้ทุกเรื่อง

ไม่ว่าชีวิต เซ็กซ์ เพศ ความเท่าเทียม เทคโนโลยี ฯลฯ

เช่นเดียวกับกวี เรายินดีต้อนรับแนวทางที่ยึดมั่นฉันทลักษณ์โดยเคร่งครัด

แต่ก็ยินดีต้อนรับความ “เปล่า”

หรือแม้กระทั่งสะท้อนผ่านรูปแบบ “แร็พ” ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจก็พร้อมพิจารณา

พลิกอ่านรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการประกวดเรื่องสั้น-กวีนิพนธ์ “มติชนอวอร์ด” ปี 2565 ที่หน้า 23

มาเติมพลังเขียน เสริมพลังอ่าน กัน! •

 

 

อ่านรายละเอียดโครงการประกวดเรื่องสั้น-กวีนิพนธ์ “มติชนอวอร์ด” ได้ที่นี่

เติมพลังเขียน เสริมพลังอ่าน มติชนสุดสัปดาห์เชิญร่วมประกวดเรื่องสั้น – กวีนิพนธ์ มติชนอวอร์ด 2022

 

หรือ Scan QR CODE อ่านรายละเอียดโครงการประกวดเรื่องสั้น-กวีนิพนธ์ “มติชนอวอร์ด” ได้ที่นี่