ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

[email protected]

ประจำวันที่ 25-31 มีนาคม 2565 ฉบับที่ 2171

 

ขอแสดงความนับถือ

 

เมื่อครั้งที่ดูหนังเรื่อง Thirteen Days

ที่สร้างจากหนังสือ Thirteen Days : A Memoir of the Cuban Missile Crisis เขียนโดยโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ น้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้

ผ่านทางช่องเคเบิลทีวี เมื่อนานพอสมควร

ตอนที่ดู ยอมรับว่าแฝงอคติอยู่นิดๆ

ด้วยว่าเป็นหนังที่สร้างโดยฝ่ายอเมริกัน

คงจะแฝงการโฆษณา “ชวนเชื่อ” ให้ฝ่ายเคนเนดี้ดูดีอยู่ไม่น้อย

 

แต่กระนั้น ในอคติดังกล่าว ด้านหนึ่งก็อดชื่นชมกลุ่มนักการเมืองรุ่นหนุ่มสายพิราบ ที่นำโดยประธานาธิบดีเคนเนดี้ไม่ได้

ที่ยึดมั่นนโยบายการอยู่ร่วมกันแบบสันติภาพอย่างแน่วแน่ไม่ได้

พวกเขาเลือกแนวทางที่จะใช้ความรุนแรงเป็นวิธีสุดท้าย

ขณะเดียวกัน แม้ในหนังจะไม่ได้พูดถึงฝ่ายรัสเซียมากนัก

แต่ก็คงต้องให้เครดิตและชื่นชม “นายกรัฐมนตรีนิกิตา ครุสชอฟ” ผู้นำโซเวียตขณะนั้นด้วย

ที่ตอบสนองแนวทางการเจรจาทางการทูต ตัดสินใจนำขีปนาวุธออกจากคิวบา

แม้จะถูกมองว่าอ่อนข้อให้สหรัฐ

แต่ถ้า “ครุสชอฟ” ไม่ถอย

เราไม่รู้โลกจะเป็นอย่างไรหากสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้น

 

Thirteen Days

 

ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ “สุทธิชัย หยุ่น” แห่งคอลัมน์กาแฟดำ

นำ Thirteen Days มากล่าวถึงอีกครั้ง ผ่านบทความที่ชื่อว่า

“บทเรียนจาก Thirteen Days : อย่าต้อนศัตรูให้จนมุม…”

โดยสุทธิชัย หยุ่น บอกว่าที่กลับมาสนใจ Thirteen Days เวลานี้

ก็เพราะอาจสามารถนำมาเป็น “บทเรียน” สำหรับวิกฤตของสงครามยูเครน-รัสเซียตอนนี้ได้

บทเรียนที่เคนเนดีเคยยืนยันว่าจะต้องใช้วิถีทางการทูตไปจนถึงวินาทีสุดท้าย

ว่ากันว่าจุดยืนนี้ ได้แรงบันดาลใจจากแนวทางการต่อรองการทำสงครามจากนักวิเคราะห์ทางทหารชาวอังกฤษที่ชื่อ Basil Liddell Hart

เขาเป็นผู้เขียนตำราการเจรจาหลีกเลี่ยงวิกฤตชื่อ Deterrent or Defense

ซึ่งประธานาธิบดีเคนเนดี้น่าจะหยิบมาเป็นแนวทางการเจรจาต่อรองกับคู่ต่อสู้ในวิกฤตดังกล่าว

โดยถือหลัก

– ต้องแสดงความเข้มแข็งเอาไว้

– ในทุกกรณี ต้องใจเย็น ใจนิ่ง ใจร่มๆ

– ต้องให้มีความอดทนอย่างไร้ขีดจำกัด

– ที่สำคัญคือ อย่าต้อนฝ่ายตรงกันข้ามเข้ามุม

– จงช่วยศัตรูรักษาหน้าของเขา

– ที่สำคัญที่สุด “จงใช้จินตนาการว่าเขาคิดอะไรอยู่…” นั่นคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรามองเหตุการณ์นี้ด้วยสายตาของฝ่ายตรงกันข้าม

– อย่าได้ปิดบังสายตาด้วยเองด้วยการติดยึดว่า “ฉันคือผู้ที่ถูกต้องชอบธรรมที่สุด”

เขาย้ำเตือนตลอดว่า

“เราต้องถามตัวเองว่าทำไมฝ่ายโซเวียตจึงคิดและทำอย่างที่เขาทำอยู่…เขาต้องมีเหตุผลของเขา…”

ซึ่งเคนเนดี้ได้พยายามทำทุกอย่างที่จะช่วย “ครุสชอฟ” จะถอยได้โดยไม่ต้องเสียหน้า

ซึ่งที่สุดก็ช่วยคลายวิกฤตลงได้

 

เราหวังร่วมไปกับสุทธิชัย หยุ่น เช่นกันว่า ที่สุด “สงครามยูเครน-รัสเซีย”

ปูตินกับไบเดนน่าจะมีส่วนช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่ง “ถอยโดยไม่เสียหน้า” ได้เช่นกัน

แต่ในคอลัมน์ยุทธบทความ ของสุรชาติ บำรุงสุข ที่หน้า 38-39

ได้นำเสนอ “หลักการปูติน” เอาไว้อย่างน่าพิจารณาเช่นกัน

คือเราอาจจะต้องยอมรับว่าประธานาธิบดีปูตินเป็นตัวแทนของกระแสชาตินิยมรัสเซียที่เป็น “ประชานิยมปีกขวา” (right-wing populism)

เชื่อว่าตัวเขามี “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” ในการฟื้นสถานะของรัสเซีย ที่ตกต่ำลงอย่างมากในยุคหลังสงครามเย็นกลับมา

ด้วยบุคลิกแบบปูตินนี้ทำให้เขามุ่งมั่นในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

และสงครามคือเครื่องมือในการ “กอบกู้” สถานะในการเมืองโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนจึงถูกเรียกว่าเป็น “สงครามของปูติน”

เพื่อฟื้นฟูสถานะของรัสเซียให้กลับสู่การเป็น “รัฐมหาอำนาจใหญ่” ที่ต้องได้รับการยอมรับจากเวทีโลก

 

แน่นอนว่าแม้มากด้วยความทะเยอทะยาน ก้าวร้าว

แต่ตะวันตกจะต้องไม่ละเลยต่อท่าทีของรัสเซียอีกด้วย

โดยอาจยึดแนวอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ที่ไม่ปิดบังสายตาตัวเองด้วยการติดยึดว่า “ฉันคือผู้ที่ถูกต้องชอบธรรมที่สุด”

และย้ำเตือนตลอดว่า

“เราต้องถามตัวเองว่าทำไมฝ่ายโซเวียตจึงคิดและทำอย่างที่เขาทำอยู่…เขาต้องมีเหตุผลของเขา…”

เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย

หรือที่ดีที่สุดคือพื้นที่ “ที่ต่างคนต่างถอย”

ดังที่โลกผ่านวิกฤต Thirteen Days มาได้ •