ขอแสดงความนับถือ ประจำวันที่ 11-17 มีนาคม 2565 ฉบับที่ 2169

 

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อฉบับ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

อาจารย์สุภา ปัทมานันท์ เคยนำเสนอเทรนด์คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น มาให้เรารู้จักนั่นคือ Freeter

หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ฟรีตะ”

ฟรีตะ คือกลุ่มคนที่เบื่อการทำงานประจำที่เคร่งเครียด

จึงหนีความซ้ำซากจำเจ ลาออกมาทำงานเล็กๆ น้อยๆ แทน

สวนทางกับวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่นที่ต้องทำงานหนัก

ทำแล้วก็จะปักหลักกับงานเดิมจนเกษียณอายุ ไม่ลาออกจากองค์กรกันง่ายๆ

มีการสำรวจกันว่า มีชาวญี่ปุ่นราว 10 ล้านคน เป็นฟรีตะ

สร้างความกังวลสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่นที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนวัยแรงงาน ที่มาเจอกับเหล่าฟรีตะอีก

 

ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ จิตต์สุภา ฉิน แห่งคอลัมน์ Cool tech

พาเราไปรู้จักกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะเหมือน “ฟรีตะ”

นั่นคือ ‘ถ่างผิง’

คำจีนที่แปลตรงๆ คือ “การนอนราบ” นั่นเอง

ถ่างผิงเป็นความเคลื่อนไหวของคนบนอินเตอร์เน็ตรุ่นใหม่ในจีน

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในเจอเนอเรชั่น Z หรือเจนซี

ที่เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นว่าพวกเขามีทัศนคติในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

ไม่เอาแล้วกับโมเดลการทำงานหนักไม่ลืมหูลืมตา

ทำงานเช้าตรู่จนถึงดึกดื่น

เป็นรูปแบบการทำงานของคนรุ่นเก่า ที่เชื่อว่าให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในบั้นปลายชีวิต

 

แต่เหล่า ‘ถ่างผิง’ ไม่อยากอยู่ในกรอบของความสำเร็จแบบเดิมๆ นั้น

คือทำงานหนัก แต่งงาน มีลูก ซื้อบ้านและซื้อรถ

ไม่อยากคำนึงถึงเรื่องความก้าวหน้าในการทำงานมากเหมือนคนรุ่นก่อน

จึงโต้ตอบ “กระแสเก่า” ด้วยการทำงานของตัวเองอยู่ในระดับที่น้อยที่สุด

ไม่ทำงานเกินขอบเขตภาระหน้าที่

ไม่เอาตัวเข้าแลก

แต่จะให้ความสำคัญกับคนรอบๆ ตัวและแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองให้มากขึ้น

“การนอนราบ” กลายเป็นเครื่องมือช่วยจัดการความเจ็บปวดที่มาจากความยากลำบากในการแข่งขันกับคนอื่น

และเจ็บปวดกับการทำงานชนิดที่หลักแทบหักแต่ค่าตอบแทนที่ได้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานในแต่ละเดือน

พวกเขาชี้ว่าการทิ้งตัว ‘นอนราบ’ ไม่ได้แปลว่านอนรอความตาย

ยังใช้ชีวิต ยังทำงาน แต่แค่จะทำงานในปริมาณที่จำเป็นก็พอ

แน่นอนเหล่าถ่างผิงย่อมสร้างความหนักอกหนักใจให้กับรัฐบาลจีนพอสมควร

และรัฐบาลจีนก็ทำทุกวิถีทางที่จะระงับปรากฏการณ์ถ่างผิงไม่ให้แพร่กระจายมากกว่านี้

เพราะกลัวว่าจะไปท้าทายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจอันเข้มข้นของจีน

จะได้ผลหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

 

จากฟรีตะ มาถึงถ่างผิง อาจรวมถึง “กลุ่มสามนิ้ว” ในไทย

ที่ดูจะเป็นความห่วงใยคนของคนรุ่นเก่า ว่า คนรุ่นใหม่กำลังเป็นปัญหา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “จิตต์สุภา ฉิน” นำมาสะท้อนผ่านคอลัมน์ของเธอ

คือ “เข้าใจ Gen Z ในแบบที่ Gen Z เป็น”

อาจจะทำให้เจเนอเรชั่นเก่า สบายใจกับเหล่าเจเนอเรชั่นซี มากยิ่งขึ้น

คือแทนที่จะต่อต้าน หรือรู้สึกว่าเป็นปัญหา ลองแปรเปลี่ยนเป็นการพยายามเข้าใจ

จะทำให้เข้าใจว่า คนเจนใหม่นี้ให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง

มีไลฟ์สไตล์หรือการให้คุณค่ากับอะไรที่ไม่เหมือนคนเจนก่อนๆ อย่างไร

เข้าใจแล้วก็อาจจะแลเห็นมุมมองใหม่ๆ และสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ไม่ใช่โทษกันไปมา

แบบผู้ใหญ่ตราหน้าว่าคนรุ่นใหม่เป็นเจเนอเรชั่นลอยชาย หยิบจับอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ฉาบฉวย ขี้เกียจ

ในขณะที่เด็กเจนซีก็มองว่าคนเจนก่อนยึดติดกับความสำเร็จรูปแบบเดิมๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

เป็นการปะทะทางเจเนอเรชั่นที่ไร้ประโยชน์ •