ขอแสดงความนับถือ ประจำวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ 2565 ฉบับที่ 2166

ขอแสดงความนับถือ

 

แม้รู้ว่าอย่างไรเสียก็เลี่ยงไม่พ้น

ยังไงๆ ต้องวนเวียนร่วมชะตากรรมเดียวกันกับคนไทยทุกคนนี่แหละ

แต่กระนั้น การที่ต้องวนเวียนซ้ำซาก อยู่กับมันมากๆ แถมไม่มีความหวัง หรือทางออกให้เห็นเท่าใดนัก

ย่อมอยู่ในภาวะจิตตก

แวบไปดูประเทศอื่นๆ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศเสียหน่อยดีกว่า

ไปที่ “ญี่ปุ่น” กัน

 

ที่หน้า 27 อาจารย์สุภา ปัทมานันท์ นำเสนอบทความพิเศษ

“บ๊าย บาย…โตเกียว”

การต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 มา 2 ปี

และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด

ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยคิดขยับขยายที่อยู่ใหม่

ให้พ้นจากความแออัดของเมืองใหญ่ สุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาด

ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่จำนวนประชากรในโตเกียว 23 เขต มีผู้ย้ายออกไปอยู่จังหวัดอื่นๆ มากกว่าผู้ย้ายจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามา

ในจำนวนนี้เป็นคนวัยหนุ่มสาวจนถึงวัย 40 ปี ถึง 70%

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดเทรนด์นี้

คือ การใช้ชีวิตทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ แออัดและทุกอย่างเร่งรีบตลอดเวลา

ยิ่งมาเจอปัญหาใหม่คือ การแพร่ระบาดที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด

ทำให้หลายคนตัดสินใจทิ้งแสงสี ความวุ่นวาย สับสน ไปหาประสบการณ์ใหม่ ไม่อยู่ในกรอบเดิม หรือเลือกที่จะใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

ทำให้กระแส บ๊าย บาย โตเกียว ขึ้นสูง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ตามนี้โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะบางพื้นที่ก็ไม่มีงานให้ทำ

และแนวโน้มนี้ก็ยังไม่อาจฟันธงว่า จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

เพราะหากโควิด-19 การระบาดสิ้นสุดลง

ผู้คนก็อาจอยากมาอยู่โตเกียวอีก เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง

ซึ่งก็ต้องรอดูแนวโน้มกันต่อไป

 

กระแส บ๊าย บาย โตเกียว ว่าไปเป็นแนวโน้มที่ดี ไม่น่าเป็นห่วง

แต่หากพลิกไปที่หน้า 40

“จักรกฤษณ์ สิริริน” นำแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงที่ญี่ปุ่น มาให้เรารู้จักอีกด้าน

ด้วยบทความพิเศษ “Hikikomori บทเรียนจาก ญี่ปุ่น”

ฮิคิโคโมริ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “ฮิกกี้”

หมายถึง ผู้ที่ทยอยตัดสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง

กระทั่งค่อยๆ ถอนตัวเองออกจากสังคมในที่สุด

“ฮิกกี้” ในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ถูกกดดันจากสภาพแวดล้อม

เช่น ถูก Bully รุนแรง หรือประสบสถานการณ์ที่กระทบจิตใจอย่างหนักหน่วง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ส่งผลให้ปฏิเสธสังคม ไม่อยากปรากฏตัวในที่สาธารณะ กลัวความล้มเหลว

“ฮิกกี้” จึงมักเผาเวลาแต่ละวันไปกับความโดดเดี่ยว

อ่านการ์ตูน เล่นเกม เล่นเน็ต ดูทีวี นั่งๆ นอนๆ อยู่ในห้องส่วนตัว

ไม่สนใจการเรียน ไม่ทำงานทำการ

“ฮิกกี้” จึงนอกจากเป็นปัญหาเฉพาะบุคคลแล้ว

ยังเป็นปัญหากับคนรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่

เพราะต้องอาศัยกระเป๋าตังค์พ่อแม่ บ้านไหนฐานะดีหน่อย ปัญหาอาจไม่เท่าไหร่

แต่ถ้าครอบครัวอัตคัด ไม่มีบำนาญ พ่อแก่แม่เฒ่าจำต้องออกไปหาลำไพ่เพื่อเลี้ยงดู “ฮิกกี้”

แบกกันหนัก

 

มีอีก 2-3 คำที่ใกล้เคียงกับ “ฮิกกี้” คือ Jobless NEETs และ Freeter

Jobless หมายถึง คนว่างงานที่อยากทำงาน แต่ยังหางานไม่ได้

ส่วน Freeter หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ฟรีตะ” หมายถึง คนซึ่งชอบทำงานต่ำกว่าวุฒิที่ตัวเองเรียนจบมา

เช่น งานในร้านสะดวกซื้อ งานแจกสินค้าทดลอง และงานในร้านอาหาร

เหตุผลก็คือ ฟรีตะเบื่อการทำงานประจำที่เคร่งเครียด จึงหนีความซ้ำซากจำเจ ลาออกมาทำงานเล็กๆ น้อยๆ แทน

นอกจากนี้ ฟรีตะมักจะเปลี่ยนงานบ่อย และย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ

จนสุดท้ายกลายเป็นคนไม่มีหลักแหล่ง

ฟรีตะจึงเป็นกลุ่มคนที่สวนทางกับวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่นที่ทำงานหนักมาก และมักทำงานที่เดิมจนเกษียณอายุ ไม่ลาออกจากองค์กรกันง่ายๆ

 

ปัจจุบัน มีการสำรวจกันว่า มีชาวญี่ปุ่นราว 10 ล้านคนเป็นฟรีตะ

ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ

และเป็นสิ่งกังวลสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น

เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนวัยแรงงาน

ยังต้องมาเจอกับฟรีตะอีก

จึงต้องรีบแก้

 

ถือเป็นปัญหาของต่างประเทศ ที่รู้ไว้ใช่ว่า

ขณะที่ประเทศของเรา ปัญหาฟรีตะ อาจไม่หนักเท่ากับ “ไม่มีงานทำ”

โดยเฉพาะหนุ่มสาวไทยที่กำลังเรียนจบในห้วงนี้

อนาคตมืดมนเหลือเกิน ไม่ใช่ฟรีตะ แต่เป็นการ “ตกงาน”