ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 1-7 กันยายน 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

สะพานไม้ไผ่ ทอดฝั่งฝันให้ก้าวเดิน เผชิญเรื่องราวอันมากมาย

มีดี และมีร้าย ประปรายบนสะพานไม้คลอนแคลน

จึงเป็นสะพานไม่มั่นคง พร้อมผุพังลง ล่ม ลง คงคา

แต่เธอก็จับมือฉัน ร่วมก้าวมา สองใจศรัทธา แม้จมคงคาไม่ปล่อยมือ

จึงเป็นสะพานที่ทอดยาว เหน็บหนาวไร้แสงดาวแสงไฟ

ไม่มั่นคงสักเท่าไหร่ จึงใช้ใจสาดแสงเพื่อนำทาง

 

ต้องยอมรับว่า “สะพานไม้ไผ่” ของ ปู่จ๋าน ลองไมค์ นักร้องแร็ปเปอร์ ในวันนี้

ได้ต่อเชื่อม “ใจ๋” คนเมืองเหนือ ไปยังคนเมืองอื่นๆ ได้อย่างมากมาย มหัศจรรย์

ทำให้หลายคนคิดถึง “จรัล มโนเพ็ชร”

หากวันนี้ “อ้ายจรัล” อยู่

อาจได้ “แร็ปคำเมือง” กับปู่จ๋าน สนุกนักแล้ว

แต่อ้ายจรัล ก็ “หนี”

หนี–ไปสวรรค์เสียแล้ว

 

ธเนศวร์ เจริญเมือง ส่งบทความ “16 ปีที่จากไป : อ้ายจรัล มโนเพ็ชร (พ.ศ.2544-2560)” มานำเสนอใน “มติชนสุดสัปดาห์” เพื่อรำลึกถึงนักร้องผู้นี้

นักร้องที่ ธเนศวร์ เจริญเมือง ยกย่องว่า เป็นคลื่นลูกที่ 3 ของขบวนการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยนับตั้งแต่ล้านนาสูญเสียฐานะประเทศราช ดินแดนล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามรัฐในปี พ.ศ.2442

คลื่นลูกที่ 1

คือ ขบวนการสงฆ์นำโดยครูบาศรีวิชัย (พ.ศ.2421-2481)

คลื่นลูกที่ 2

คือขบวนการปัญญาชนท้องถิ่น ที่นำโดย ไกรศรี นิมมานเหมินท์ (พ.ศ.2455-2535) ที่ปักธงทำให้คำว่า “ล้านนา” ได้รับการรับรอง แทนคำว่า “ลานนา”

คลื่นลูกที่ 3 เป็นผลสะเทือนจากความตื่นตัวทางวิชาการเรื่องล้านนา บวกกับการมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เป็นรากฐานให้เพลง จรัล มโนเพ็ชร แต่งและร้องเพลงกำเมือง ที่ได้รับการต้อนรับอย่างที่ไม่เคยมีศิลปินคนเมืองคนใดได้รับมาก่อน

โดยเฉพาะเพลง อุ๊ยคำ น้อยไจยา คนสึ่งตึง สาวเชียงใหม่ สาวมอเตอร์ไซค์ ล่องแม่ปิง ปี้สาวครับ และ ของกิ๋นบ้านเฮา ฯลฯ

ธเนศวร์ เจริญเมือง ชี้ว่า คลื่นลูกที่สามนี้ ทำให้ภาษากำเมืองผงาดขึ้นมายืนเคียงกับภาษาอีสานและภาษาใต้ในเมืองหลวง

คนเมืองหลายคนบอกว่าได้ฟังเพลงอ้ายจรัลแล้ว ก็บอกใครดังๆ ได้เลยว่าตัวเองเป็นคนเมือง

ไม่อายใครที่เคยต้องอู้กำเมืองเบาๆ หรือไม่อยากพูดกำเมืองเหมือนเก่าก่อนในเมืองกรุง

 

ขณะที่ธเนศวร์ รำลึก 16 ปีผ่านไป ของ “จรัล มโนเพ็ชร”

“คำ ผกา” ในหน้า 96 ก็ได้นำเสนอบทความ

“อีกนานกว่าจะได้พบกัน”

การจะได้พบ ย่อมหมายถึงการลาจาก

แล้ว คำ ผกา รู้สึกถึงการ “ลาจาก” อะไร

“…สิบปีแล้ว

ที่เราค่อยๆ ถอยห่างจากคำว่าประชาธิปไตย

ห่างและเลือนรางจนกระทั่งเด็กในเจเนอเรชั่นหนึ่งที่เกิดหลังปี 2549 คือเด็กในเจเนอเรชั่นที่ไม่เคยเห็นประชาธิปไตยในยุคเบ่งบานและเต็มใบ

แต่เกิดมาก็เห็นสังคมไทยภายใต้ “คนดี”

และการเป็นพลเมืองที่ดี หมายถึงการใช้ชีวิตแบบ “อยู่เป็น”

อย่ายุ่งเรื่องการเมือง

อย่าสงสัย

อย่าถาม โอนเอนไปกับ “กระแส”

และ เอาหลังอิงอำนาจนำทางวัฒนธรรม เลี้ยงตัวไว้อย่าให้แปลกแยก

ทำได้ดังนี้ จะ “รอด” และจะได้ดิบได้ดี แม้จะต้องแลกด้วยการเสียสมองไปสักร้อยละแปดสิบ และทำให้มีรอยยิ้มสดใส บริสุทธิ์คล้ายเยาวชนเกาหลีเหนือ

คงอีกนานมากกว่าเราจะได้พบกัน-ประชาธิปไตย”

 

2คนเหนือ ธเนศวร์ เจริญเมือง และ คำ ผกา

อวลอยู่ในบรรยากาศ “จากไป”

โดยมีเพลงของ ปู่จ๋าน ก้องกังวาน

…เป็นสะพานที่ทอดยาว เหน็บหนาวไร้แสงดาวแสงไฟ

ไม่มั่นคงสักเท่าไหร่ จึงใช้ใจสาดแสงเพื่อนำทาง…