ขอแสดงความนับถือ ประจำวันที่ 28 ม.ค.-3 ก.พ. 2565 ฉบับที่ 2163

ขอแสดงความนับถือ

 

ขอบคุณไมตรี รัตนา ที่หยิบเอาสถานการณ์ “ฮ้อน-ฮ้อน” เขียนกลอนทำกราฟิก แล้วส่งมานำเสนอใน “มติชนสุดสัปดาห์” แทบทุกอาทิตย์

ไม่รักกันจริง คงไม่ทำให้ขนาดนี้

ล่าสุด ไมตรี รัตนา เอาเสียง “เพล้ง” ของจาน (ชาม) กระเบื้องแตก มาเป็นคำอธิบายสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายว่า หมายถึงอะไร

ด้วยทุกคนย่อมรู้ การแตกมิใช่เรื่องดี อย่างแน่นอน

 

ยิ่งในบรรยากาศอันเป็นมงคล วันตรุษจีน

โดยเฉพาะสำหรับคนไทยเชื้อสายจีน มีข้อห้ามและข้อควรระวัง อย่าให้ “ชามแตก” ด้วยเป็นสิ่งอวมงคล

งานเลี้ยงในหมู่ญาติมิตร เพื่อนฝูง ในห้วงเวลานี้

ควรเป็นงานเลี้ยงที่สรวลเสเฮฮา

แสดงความรัก และผูกพันต่อกัน

มิใช่การมากวาดเก็บเศษกระเบื้องแตก

มิใช่การแก่งแย่งชิง “ชามข้าว” หรือชิง “อำนาจ” กัน

 

ในห้วงดี-ดีเช่นนี้ หากจะกล่าวถึงเรื่องชามกระเบื้องแตก

ควรเป็นกรณี “ชามแตก” ที่นำไปสู่ความซาบซึ้งตรึงใจ

ดั่งตอนหนึ่ง ในหนังจีน “The Road Home” ของจางอี้โหมว

ที่นางเอก (แสดงโดยจางซี่ยี่) หยิบซาลาเปาใส่ชามใบสำคัญ ห่อผ้า และวิ่งตามรถที่ชายคนรัก (คุณครูประจำหมู่บ้าน ซึ่งถูกพรรคคอมนิวนิสต์สั่งให้ไปรายงานตัว) นั่งไป เพื่อนำซาลาเปาไปให้เขา

แต่เธอวิ่งตามไม่ทัน และสะดุดล้มจนชามใบนั้นแตกเป็นเสี่ยง

ชามใบนั้นเคยเป็นชามใส่อาหารที่เธอแอบไปวางระหว่างที่ผู้ชายในหมู่บ้านถูกเกณฑ์ไปช่วยกันสร้างโรงเรียน ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ส่งเสบียง

เธอหวังว่า ครูจะเลือกชามของเธอ และที่สุดเขาก็เลือกจริงๆ…

ชามใบนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความ “สัมพันธ์” ระหว่างเธอและเขา

แต่ชามใบนั้นแตกเสียแล้ว…พร้อมๆ กับเขาก็จากเธอไป

หัวใจของเธอแตกสลายเหมือมชามกระเบื้องใบนั้น

จนวันหนึ่งมีช่างซ่อมถ้วยชามหาบเครื่องมือมาเร่รับปะถ้วยชามในหมู่บ้าน

แม่ของเธอเรียกช่างให้ช่วยซ่อมชามใบนั้น

“ค่าซ่อมชามอาจจะแพงกว่าซื้อชามใหม่นะ” ช่างบอก

แม่เธอบอกว่า “ของลูกสาวเค้า…คนที่เคยใช้เขาจากไปแล้ว เอาหัวใจของลูกสาวไปด้วย”

ช่างซ่อมยิ้ม และบรรจงปะชามใบนั้นอย่างประณีตบรรจง

เมื่อเธอกลับมาบ้านและเปิดตู้กับข้าวในตอนเย็น

เห็นชามใบนั้นวางอยู่ในตู้ แม้มีรอยปะ แต่มันกลับใช้การได้ใหม่

น้ำตาไหลอาบแก้มเธออย่างเงียบๆ

 

นี่ย่อมเป็นความซาบซึ้ง ที่อยากให้คนไทยเชื้อสายจีน รวมถึงคนไทยทุกคนรู้สึกในห้วงตรุษจีนนี้

ซึ่งหากยังอยากเติมความรู้สึกดีๆ ขึ้นไปอีกนิด

โดยเฉพาะเรื่องความรัก

พลิกไปที่หน้า 26-27

อ่านบทความพิเศษ ของเจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ แห่งสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่เขียนถึง

ความรัก ละมุนละไม

ในบรรยากาศดีๆ ‘ตรุษจีน’

ผ่านนิยาย “8 เทพอสูรมังกรฟ้า”

อาจทำให้เกิดความรู้สึกดี-ดี ในบรรยากาศจีน-จีน มากยิ่งขึ้น

ก้าวข้ามกรณีชามแตก แบบการเมืองไทย-ไทย

ที่ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นการแย่งกินข้าว จนชามข้าวแตก!!