ขอแสดงความนับถือ (ประจำวันที่ 14-20 มกราคม 2565 ฉบับที่ 2161)

ขอแสดงความนับถือ

[email protected]

 

ไมตรี รัตนา ส่งเมล์มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

เนื่องในวันครู–คุรุ’เดย์

แม้เนื้อหาจะออกไปในทางยั่วล้อ

แต่ก็เป็นความจริงที่ต้องตระหนักเช่นกัน

เพราะปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสร้าง และทำลายระบบการเรียนรู้อย่างสำคัญ

ทั้งครูและนักเรียนต้องปรับตัวให้ทัน

จะติดหล่มอยู่ในประเด็นเดิมๆ ที่แม้จะเป็นปัญหาของครูที่แก้ไม่ตก อย่างเดียวคงไม่ได้ (อ่านคอลัมน์การศึกษา : เปิดโรดแม็ปแก้หนี้ บิ๊กเซอร์ไพรส์ ‘วันครู’ หน้า 26)

 

ในคอลัมน์กาแฟดำ ของสุทธิชัย หยุ่น

นำเสนอเรื่อง “AI ณ ปี 2041: มนุษย์จะอยู่ตรงไหน?” (หน้า 89)

โดยหยิบหนังสือที่ Kai-Fu Lee ที่ร่วมกับ Chen Quifan นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มาเล่าให้ฟัง

พร้อมกับแนะนำศัพท์ 2 คำให้รู้จักอีก

คือ Plenitude และ Singularity

คำว่า Plenitude หมายถึงความสมบูรณ์พูนสุข

คาดการณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ AI จะทำให้สังคมของคนมีความพร้อมเพรียง อย่างน้อยก็ทางวัตถุมากขึ้นอย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

เป็น “โลกแห่งความเพียบพร้อม”

ที่จะทำให้การทำงานก็คล่องแคล่ว และมีประสิทธิภาพสูง

สามารถสื่อสาร, แสวงหาความบันเทิง และความเพลิดเพลินอย่างก้าวกระโดด

มนุษย์จะมีอิสรภาพ ไม่ต้องทำงานจำเจอีกต่อไป

เหมือนเป็นโลกในฝัน

 

แต่ Kai-Fu Lee กับ Chen Quifan เตือนว่าในความเพียบพร้อมนั้น

มันมาพร้อมกับความเสี่ยงและความท้าทายมากมายเช่นกัน

อันนำมาสู่ศัพท์คำที่สอง Singularity ที่หมายถึงภาวะ “เอกฐาน” ทางเทคโนโลยี

เป็น “เอกฐาน” แห่งพัฒนาการของอารยธรรม ที่เทคโนโลยีพัฒนาได้รวดเร็วเกินกว่าที่มนุษย์ในปัจจุบันจะสามารถเข้าใจหรือคาดการณ์ได้

ถึงจุด Singularity ก็แปลว่าปัญญาของ AI อยู่เหนือปัญญามนุษย์

หรืออีกนัยหนึ่ง หากถึงจุดนั้น AI ก็จะกระชากอำนาจการกำหนดชะตากรรมของโลกไปจากมนุษย์

โดยผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์อนาคตหลายค่ายเชื่อว่า หาก AI ฉลาดกว่ามนุษย์เมื่อใด

มนุษย์ก็จะมีอันหมดสภาพ กลายเป็นทาสของ AI ที่จะเป็นผู้สั่งการให้มนุษย์ต้องทำในสิ่งที่เป็นอันตรายกับตนเอง

มนุษย์จะกลายเป็นผู้ยอมจำนนต่อเทคโนโลยีอย่างน่าสะพรึงกลัวทีเดียว

 

เหล่านี้ ครูในฐานะผู้สอน ต้องรู้เท่าทันและชี้แนะให้นักเรียนได้เรียนรู้

ซึ่งไม่อาจจะล้ำยุค ดังที่สุทธิชัย หยุ่น เล่าไว้ในคอลัมน์กาแฟดำ

เอาเพียงแค่สิ่งที่ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” เรียกร้องไว้ในเรื่อง “ครูคือใครในวันนี้” (หน้า 51)

ก็น่าจะพอเท่าทันได้ตามควร

โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้เตือนถึงคุณครูทั้งหลายว่า โลกยุคใหม่ทำให้เกิด “โรคหัวใจ” ของการศึกษามากขึ้นไปอีก ทั้ง “สงครามโรค” สงครามโลกยุค NEW ABNORMAL (ผิดปกติใหม่) ซึ่งสร้างความล้มเหลวแก่การศึกษาจนเหมือนวนอยู่ในเขาวงกต

ครูวันนี้อาจรู้ไม่เท่าศิษย์ผู้ชำนาญการใช้จอแผ่นมากกว่าครู

หน้าที่ของครูวันนี้จึงไม่ใช่ให้ความรู้พื้นฐานเพียงเท่านั้น

หากครูพึงต้องให้ศิษย์ได้รู้ครบทั้งสามขั้นตอนคือ รู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง ในความรู้พื้นฐานนั้นๆ

และหน้าที่ใหม่ของครูคือต้องตระหนักถึงการนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงด้วย

ซึ่งคือการบริหารจัดการกับสรรพความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติมาก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวมได้จริง

นี้เป็นภาระหน้าที่ใหม่อันหนักยิ่ง

เพิ่มน้ำหนักของคำว่า “ครุ” หรือ “ครู” แห่งยุคสมัย

แน่นอน คงไม่ใช่เรื่องง่าย

ขอเป็นกำลังใจให้ครู สำหรับภารกิจอันหนักหน่วงที่จะฝ่ายุค NEW ABNORMAL ไปให้ได้