ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 31 ธ.ค. 2564- 6 ม.ค. 2565

ขอแสดงความนับถือ

 

ในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

ขอใช้คอลัมน์ และข้อเขียนใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

เป็นของขวัญปีใหม่

มอบให้กับผู้อ่านทุกท่าน

 

อาจารย์เกษียร เตชะพีระ แห่งคอลัมน์การเมืองวัฒนธรรม

นำบทกลอน “จิตรกรในโลกเทา” มามอบเป็นของกำนัล

เป็นบทกลอนที่อาจารย์เกษียรเล่าว่า เขียนกลางดึกเงียบเหงาในคืนหนึ่งของหน้าหนาวแรกที่ได้เจอหิมะหนแรกในชีวิตขณะไปเรียนต่อปริญญาโท-เอกที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลปลายปี พ.ศ.2528

ด้วยความคิดถึงพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เมืองไทย

แม้ 36 ปีผ่านไป แต่ยังจำกลอนชิ้นนั้นได้ขึ้นใจ

ทำไมจึงจำขึ้นใจ

หรือโลกเมื่อ 36 ปีที่แล้วไม่ได้แตกต่างจากโลกตอนนี้

โลกที่…

“…จะที่นั่นที่นี่ที่ไหนไหน

โลกล้วนไม่สวยสดหดหู่เศร้า

ความเป็นจริงโลกนี้เป็นสีเทา

เป็นสีเก่าแก่ที่มีมานาน…”

 

ขณะที่อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคอลัมน์ยุทธบทความ

มอบมุมมอง “พยัคฆ์ร้าย 2565 / ปีใหม่ เชื้อใหม่ รัฐบาลเก่า!” มาเป็นของกำนัล

โดยอาจารย์สุรชาติบอกว่า บทความรับปีใหม่นี้จะทดลองนำเสนอถึงวิกฤตที่จะเกิดกับรัฐและสังคมไทยในยุคที่การระบาดโควิด-19 ยังไม่มีสัญญาณการสิ้นสุด

ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปว่า เสมือนกับไทยกำลังเผชิญกับ “สงครามต่อเนื่อง”

สงครามต่อเนื่อง มีอะไรบ้าง ก็คงต้องค่อยๆ แกะของขวัญที่อาจารย์สุรชาติจัดลำดับมาให้อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์

เพราะเมื่อเป็นเรื่อง “สงคราม”

ที่แม้อาจารย์สุรชาติจะพยายามลดโทนความ “สีเทา” ลงบ้าง ด้วยการอธิบายว่า การใช้ “วาทกรรมสงคราม” ก็เพื่อให้สอดรับกับผู้นำรัฐบาลที่มาจากผู้นำกองทัพ อย่างไรก็ตาม ต้องขอทำความเข้าใจร่วมกันว่า สงครามเช่นนี้มิใช่สงครามในความหมายของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังระหว่างรัฐคู่พิพาท หากคำว่าสงครามในบทนี้เป็นการใช้ภาษาในเชิงภาพลักษณ์

แต่กระนั้น ก็คงแฝงด้วยความ “ขม” และ “ขื่น”

อันเป็นภาวะที่เราต้องเผชิญในปี 2565 อย่างหลีกเลี่ยงยาก

 

ส่วนอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ โฟกัสไปที่เรื่อง “ภาษา”

ในปี 2564 ที่ผ่านมา คำว่า “จักรวาลนฤมิต” จาก Metaverse ที่ราชบัณฑิตบัญญัติ ดูจะเป็นที่กล่าวถึงกันมาก

ซึ่งในทัศนะของอาจารย์นิธิน่าสนใจ

น่าสนใจด้วยเห็นว่า “เป็นศัพท์บัญญัติอันสุดท้ายของราชบัณฑิต หลังจากมีมาเป็นขบวนยาวเหยียด ที่สร้างความขบขันและบ่อนทำลายความชอบธรรมของการบัญญัติศัพท์ของตนลงหมด”

ทำไมจึงมองในด้านลบเช่นนั้น

แน่นอนย่อมท้าทายให้ช่วยกันคิดและวิเคราะห์

ทั้งนี้ มิใช่ “จักรวาลนฤมิต” เท่านั้น

หากแต่รวมถึงสำนวนใหม่ที่เกิดขึ้นรวดเร็วจนตามไม่ทัน

สำนวนใหม่เหล่านี้ไม่ใช่คำที่ถูกใช้เพื่อให้เท่

แต่เป็นคำที่อ้างถึงอารมณ์ใหม่, ความสัมพันธ์ใหม่, ประสบการณ์ใหม่ ฯลฯ ซึ่งไม่อาจหาคำไทยที่มีมาแต่เดิมทดแทนได้

จำนวนคำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากเช่นนี้

ในสายตาอาจารย์นิธิ แลเห็นว่ามันได้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนเกินกว่ารัฐจะควบคุมจังหวะหรือขนาดได้เสียแล้ว

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการแหกคอกทางภาษาครั้งมโหฬารของการประท้วงในท้องถนนช่วงนี้

ที่อาจารย์นิธิบอกว่า ไม่แต่เพียงคำหยาบซึ่งเป็นการละเมิด linguistic propriety หรือความเรียบร้อยเหมาะสมทางภาษาเท่านั้น

การจัดวางตัวตนทางภาษา (เช่น ระหว่างผู้พูดกับผู้ที่ถูกพูดถึง หรือพูดด้วย) คือความตั้งใจจะละเมิดความเรียบร้อยเหมาะสมโดยตรง

ภาษาไทยในปีเก่าที่ผ่านไป และในปีใหม่ที่กำลังมาถึง

อาจารย์นิธิเห็นว่า อยู่ในช่วงที่ตื่นเต้นเร้าใจที่สุดช่วงหนึ่ง

ซึ่งต้องตามให้ทัน—สวัสดีปีใหม่