ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 26 พ.ย. – 2 ธ.ค. 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

ไม่ว่าจะเคร่งขรึม

ออกไปในทางกึ่งวิชาการ

อย่างบทความของสมชัย ศรีสุทธิยากร ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

“ประชาธิปไตยบกพร่อง (Flawed Democracy)” (หน้า 19)

หรือ ไม่ว่าจะจี๊ดจ๊าด เข็ดฟัน

อย่างบทความของคำ ผกา

“บริหารประเทศง่ายหรือเราง่าว” (หน้า 74)

เป้าหมายร่วมของทั้งสองบทความ ต่างพุ่งไปยัง

การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างน่าพิจารณา

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร ให้ข้อมูลว่า เมื่อปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา

นิตยสาร Economist ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ดัชนีความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Index) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวน 167 ประเทศ

โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

1) ประชาธิปไตยเต็มใบ (Full Democracy) จำนวน 23 ประเทศ

2) ประชาธิปไตยบกพร่อง (Flawed Democracy) จำนวน 52 ประเทศ

3) ระบอบผสม (Hybrid Regime) กึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ จำนวน 35 ประเทศ

และ 4) ระบอบเผด็จการ (Authoritarian Regime) จำนวน 57 ประเทศ

ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ที่ 2 ประชาธิปไตยบกพร่อง (Flawed Democracy)

ผลการประเมิน ปรากฏว่า

ภาพรวมประเทศไทย ได้ลำดับที่ 73 ใน 167 ประเทศ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 6.04

ในระดับกลุ่ม ไทยเกือบรั้งท้ายในกลุ่มประชาธิปไตยบกพร่อง

 

อาจารย์สมชัยบอกว่า ดัชนีความเป็นประชาธิปไตยที่ต่ำนี้

ทำให้รัฐบาลไทยพยายามจะปรับปรุงตัว

โดยปรากฏในรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (เมษายน ถึงมิถุนายน พ.ศ.2564) ที่คณะรัฐมนตรีรายงานต่อรัฐสภาและจะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

ระบุว่า “ในส่วนแผนการปฏิรูปด้านการเมือง ได้ใช้ตัวชี้วัด Democracy Index ที่ Economist Intelligence Unit ของนิตยสาร Economist เป็นเกณฑ์ ได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้ที่ค่าเฉลี่ย 6.75

จากที่ได้ 6.04 ในปี 2563

จะทำได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป”

แต่อาจารย์สมชัยบอกว่า เมื่อไปดูรายละเอียดของแผนและโครงการการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

พบว่าสิ่งที่อยู่ในรายงานล้วนเป็นแผนที่จะดำเนินการโดยส่วนราชการโดยเอางานประจำ

เช่น งานอบรมให้ความรู้ของสถาบันพระปกเกล้า

งานด้านส่งเสริมประชาธิปไตยของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ทำกันมาเป็นปกติมาใส่ไว้แผนปฏิรูป

แล้วบอกว่าเป็นประเด็นการปฏิรูปการเมืองที่สำคัญ

หนำซ้ำยังใช้อำนาจรัฐในการจัดการคนเห็นต่างอย่างไม่เป็นธรรมไม่เว้นแต่ละวัน

ซึ่งเมื่อเป็นเช่นอาจารย์สมชัย จึงคาดการณ์ว่า นอกจากจะไม่ได้ค่าเฉลี่ย 6.75 ตามเป้าหมายแล้ว

ดีไม่ดี อาจกลายเป็นได้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 6

และตกจากกลุ่มประชาธิปไตยบกพร่อง ไปอยู่กลุ่มระบอบผสมกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการก็ได้

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่า “ผมไม่ใช่เผด็จการ” จึงอาจเป็นแค่ลมปาก

 

ลมปากอย่างที่คำ ผกา ว่าไว้ในบทความ “บริหารประเทศง่ายหรือเราง่าว”

โดยโฟกัสไปที่คำพูดของผู้นำในกรณีผักชีแพง และรถบรรทุกหยุดเดินเพราะน้ำมันแพง

ที่จะให้ทหารมาปลูกผักชีและขับรถบรรทุกแทน

ถือเป็นลมปากอัน “ว่างเปล่า”

ดังที่คำ ผกา วิจารณ์ว่า

“…ถ้าเราจะบริหารประเทศแบบนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือ เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศทหารแลนด์ก่อน (from Thailand to Taharnland)

จากนั้นเราต้องเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ว่า ประเทศนี้ดำเนินไปได้ด้วยทหาร

เราไม่ต้องมีอาชีพนักดนตรี เชฟ ครู หมอ อะไรเลย

เพราะทหารจะเข้ามาทำทุกอย่างเอง ทหารก่อสร้างก็ได้ เป็นหมอก็ได้ วงดนตรีก็มี เพาะปลูกก็เก่ง ขับรถก็ได้ จับโจรก็ดี สอนหนังสือก็เริ่ด ทำถนน ขุดคลอง สอนมหาวิทยาลัย เป็นศิลปิน เป็นช่างปั้น ช่างวาด ช่างแกะสลัก ตัดผ้า โค้ชกีฬา

มีอะไรใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ทหารทำไม่ได้…”

 

อันนำมาสู่ข้อสรุปของคำ ผกา ที่ตั้งคำถามจี๊ดเข้าไปหัวใจของใครก็ไม่ทราบว่า

“ประชาชนอย่างเราๆ จะอยู่ใน Thailand หรือ Taharnland และต้องทำอย่างไรให้บ้านเมืองนี้กลับมาเป็น Thailand ของเราอีกครั้ง”

ใครอยากตอบคำถาม โปรดยกมือ…