ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 29 ต.ค.- 4 พ.ย. 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์ เผยแพร่เมื่อ 23 ตุลาคม 2564

ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ตามมติของคณะกรรมการบริหารฯ 29 : 0 เสียง

เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม มิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป

นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายก อบจ. ทวีตข้อความว่า

“การต่อสู้เรื่องการยกเลิกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมีมานานแล้ว

บางครั้งถึงขั้นระงับโครงการได้ แต่ก็ถูกขัดขวาง ต้องยกเครดิตให้ทุกคนที่มาก่อน

กว่าจะมาถึงการยกเลิกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ไม่ง่ายเลย

สมัยที่ผมอยู่สภานิสิตจุฬาฯ พี่ๆ ก่อนหน้า เพื่อนๆ และนิสิตคนอื่นๆ ก็พยายามสู้ทางความคิดและผลักดันจนบางครั้งระงับโครงการได้ แต่ก็ถูกขัดขวาง ถูกเพิกเฉย

ต้องยกเครดิตให้ทุกท่านผู้มาก่อน

แต่สำหรับผู้มาทีหลังก็มีอะไรที่ท่านทำได้อีกเยอะ”

 

จะเห็นด้วย

ไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ข้างต้น

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตอกย้ำการปะทะทางความคิดระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” มีอย่างต่อเนื่อง

และคงมีต่อไปในอนาคต

แน่นอนว่า ทั้งการเสนอสิ่งใหม่

และทั้งการพยายามรักษาสิ่งเก่า

ย่อมมีแรงเสียดทาน ต่อต้าน ขัดขวาง

ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า กรณีนี้จะจบลงอย่างไร

แต่ที่สำคัญ หวังและไม่ประสงค์ให้หวนคืนไปสู่เหตุการณ์

23 ตุลาคม 2496

 

ในปีนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ รับหน้าที่เป็นสาราณียากรหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม 2496

จิตร ภูมิศักดิ์ “รื้อ” สิ่งที่เคยทำเสียใหม่

ทั้งในรูปแบบ และเนื้อหา

ตั้งแต่ปก ยันไปถึงเนื้อหา

ผลแห่งการเปลี่ยนนั้น ถูกโจมตีว่า “นำสิ่งไม่ควรลงมาตีพิมพ์ในหนังสือที่มีเกียรติ”

และตั้งใจจะทำหนังสือแนวคอมมิวนิสต์ที่ทำให้จุฬาลงกรณ์แปดเปื้อน

หนังสือมหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม 2496 นำไปสู่การไต่สวนจิตร ภูมิศักดิ์ ณ หอประชุมใหญ่ ต่อหน้านิสิตกว่า 3,000 คน

แต่แทนที่จะเป็นการอภิปราย ชี้แจงความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม

กลับเกิดเหตุการณ์ที่นายสีหเดช บุนนาค ประธานเชียร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับพวก ช่วยกันจับตัวจิตร ภูมิศักดิ์ โยนลงมาจากเวทีสูงประมาณ 5 ฟุต ตกกระทบพื้นไม้ชั้นล่างจนสลบ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

กลายเป็นกรณี “โยนปก” อันโด่งดัง

นอกจาก “จิตร ภูมิศักดิ์” จะบาดเจ็บ ยังถูกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยพิจารณาลงโทษสั่งพักการเรียน 1 ปี

ส่วนคู่กรณีที่ช่วยกันจับจิตรโยนบก ยอมรับผิดว่ากระทำไปโดยอารมณ์ ไม่ทันยั้งคิด

ที่ประชุมลงมติให้จับโยนน้ำ “ตามเทรดดิชั่น” ของจุฬาฯ

แต่เมื่อถึงเวลาลงโทษ กลับให้เดินลงน้ำไปเอง

ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ติดใจเอาความกับผู้จับโยนบก

 

นั่นคือกรณีที่จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เผชิญเมื่อ 23 ตุลาคม 2496

หวังว่า นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ผู้พยายามฟื้นจิตวิญญาณ “จิตร ภูมิศักดิ์” กลับสู่จุฬาฯ ใน พ.ศ.นี้

และพยายามเปลี่ยนสิ่งใหม่ มาทดแทนสิ่งเก่า

จะไม่เผชิญการกระทำรุนแรงต่อกัน

ควรเป็นการต่อสู้ทางความคิด อยู่บนพื้นฐาน เหตุและผล

จะชอบหรือไม่ชอบ

สังคมไทยต้องเรียนรู้-ปรับตัว

เพราะปรากฏการณ์การปะทะกันระหว่างเก่าและใหม่คงจะมีต่อเนื่องต่อไป

 

ในวาระที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ก้าวจากปีที่ 41 สู่ปีที่ 42

เรามองเห็นและเอาใจใส่ปรากฏการณ์นี้โดยตลอด

และสะท้อนผ่านปกมติชนสุดสัปดาห์ในตลอดห้วงปีที่ผ่านมา

สะท้อนถึงการต่อสู้เข้มข้น

ระหว่าง GEN เก่า-GEN ใหม่

พลิกอ่านที่หน้า 74 โดยพลัน