ขอแสดงความนับถือ ฉบับประจำวันที่ 1 – 7 ตุลาคม 2564

 

ขอแสดงความนับถือ

 

เดือนตุลาคม เวียนมาถึงอีกแล้ว

มาพร้อมกับ “ยุทธบทความ” ของ “สุรชาติ บำรุงสุข” (หน้า 42-43)

ที่นำเสนอ

“ตุลารำลึก สงครามที่ยังไม่จบ!”

โดยการรำลึกในปีนี้ อาจารย์สุรชาตินำเสนอคำอีกคำให้พิจารณา

“คนสามตุลาฯ”

 

ตุลาฯ แรก

14 ตุลาคม 2516

ซึ่งเป็น “ยุคแห่งการเคลื่อนไหวของคนหนุ่ม-สาว” ที่ยืนอยู่บนความเชื่อว่า “คนหนุ่ม-สาวจะเปลี่ยนแปลงโลก”

อันเป็นผลสะเทือนขบวนก่อนหน้านี้ในเวทีโลก เมื่อคนหนุ่ม-สาวในโลกตะวันตกเดินออกมาสู่การเรียกร้องบนท้องถนนในปี 2511 (ค.ศ.1968)

ทำให้หนุ่ม-สาวไทยใช้เป็นแรงบันดาลใจต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย

นำไปสู่เหตุการณ์ “14 ตุลาฯ มหาปีติ”

แล้ว “ก้าวหน้า” ไปสู่ยุค “การปฏิวัติของคนหนุ่ม-สาว”

แน่นอนว่าในยุคสมัยนั้น อาจารย์สุรชาติชี้ว่าแนวโน้มต้องเป็น “ซ้าย”

ด้วยอุดมการณ์แบบฝ่าย “ขวา” ถูกมองว่า ล้าหลังเกินกว่าที่คนหนุ่ม-สาวจะรับได้

ความเป็นซ้ายจึงเสมือนดั่ง “ธง” ที่ถูกชูขึ้นมา เพื่อก้าวไปสู่ความฝันเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

 

แต่ก็นำไปสู่ “ตุลาฯ ที่สอง”

6 ตุลาคม 2519

แน่นอน ย่อมเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายในหมู่คนหนุ่ม-สาวนั่นเอง

โดยเฉพาะปี 2518 รัฐบาลนิยมตะวันตกในอินโดจีนต่างพากันล้มลงตามกัน…

“โดมิโนอินโดจีน” สามตัวล้มลงแล้ว

“โดมิโนตัวที่สี่” ที่กรุงเทพฯ ถูกจับตาว่าจะล้มตามด้วยหรือไม่?

ฝ่ายรัฐไทย ชนชั้นนำและผู้นำฝ่ายขวา หาทางหยุดยั้งไม่ให้ “โดมิโนไทย” ล้มตาม

ในแว่นตาของฝ่ายขวา ขบวนนักศึกษาที่ “เอียงซ้าย” คือ “ภัยคุกคามด้านความมั่นคง” ที่ต้องหยุดยั้งดังกล่าว

โดยพวกเขาเชื่อว่าการใช้กำลังเข้าจัดการกับการขยายตัวของขบวนนักศึกษาในเมืองเป็นวิธีการแก้ปัญหาสงครามที่ดีที่สุด

ปฏิบัติการ “ล้อมปราบและสังหารในเมือง” วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงเกิดขึ้น

 

การสังหารและจับกุมในเดือนตุลาคม 2519

กลายเป็นแรงผลักดันให้นิสิต-นักศึกษาตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตด้วยการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ป่าเขา เพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

“นิสิต-นักศึกษา” ในห้องเรียน กลายเป็น “นักปฏิวัติ” ในชนบท

ซึ่งสำหรับหลายคนต้องแลกด้วยชีวิต

เช่นเดียวกัน อีกฝ่ายทหารจำนวนมากในแนวรบก็ต้องเสียชีวิตเช่นกัน

สงครามทิ้งบาดแผลใหญ่ไว้กับทุกฝ่ายในสังคม

รัฐไทยก็ต้องเปลี่ยน

พคท.ก็ต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะเมื่อทิศทางการเมืองภูมิภาคเปลี่ยนไป

ซึ่งเป็นผลจาก “สงครามระหว่างพรรคพี่น้อง” ในอินโดจีนเมื่อปี 2522

ทำให้สงครามปฏิวัติไทย เสมือน “ติดกับ” ไม่อาจขยับเขยื้อนไปไหนได้

และเริ่มถดถอยไปตามเงื่อนไขใหม่ของสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค

บททดสอบขีดความสามารถในการ “ปรับยุทธศาสตร์” ระหว่าง “รัฐไทย vs พรรคไทย”

จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายปฏิวัติ

สภาวะ “ป่าแตก” เริ่มปรากฏประมาณปี 2523

จนในที่สุด สงครามก็เดินทางสู่จุดสุดท้าย

รัฐบาลในขณะนั้นประกาศ “ชัยชนะสุดท้าย” ต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2526

ถือเป็น ตุลาฯ ที่สาม

 

กล่าวโดยสรุป

“ตุลาคม 2516” คือจุดเริ่มต้นด้วยชัยชนะของนักศึกษาประชาชน…

“ตุลาคม 2519” คือจุดจบของการต่อสู้ในเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในป่า…

“ตุลาคม 2526” คือจุดจบของสงครามปฏิวัติ

นี่คือ คำว่า “คนสามตุลาฯ” ที่อาจารย์สุรชาตินำเสนอ

และมองว่า “คนสามตุลาฯ” ได้จบลงไปพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติไทย ดั่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (The End of History)

กระนั้น อาจารย์สุรชาติได้ย้ำเตือนว่า แม้ยุคแห่งการต่อสู้ของคนหนุ่ม-สาวในเดือนตุลาคมจบไปแล้ว

แต่เจตนารมณ์ของ “การต่อสู้ในเดือนตุลาคม” ยังคงอยู่

และการต่อสู้ของคนหนุ่ม-สาวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอยู่ในสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้

ส่วนหนึ่ง ย่อมเรียนรู้มาจากประวัติศาสตร์ของ “การต่อสู้ในเดือนตุลาคม” อย่างมิต้องสงสัย