ขอแสดงความนับถือ : ฉบับประจำวันที่ 24 – 30 กันยายน 2564

 

ขอแสดงความนับถือ

 

ผลกระทบจากโควิด-19 แผ่ขยายกว้างอย่างไร คงไม่ต้องพูดถึง

ตุลาคมนี้ เราจะเปิดประเทศได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม

ด้านหนึ่ง ก็หวาดผวา ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีก

อีกด้าน ถ้าไม่ “โสตาย” ไปข้างหน้า ปัญหาเศรษฐกิจก็ยิ่งจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น

ทำให้เราในฐานะชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก

เกิดภาวะพะว้าพะวัง

ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดี

 

 

มีไปรษณียบัตร 2 ฉบับ ที่ส่งถึง “มติชนสุดสัปดาห์” ตอกย้ำถึงภาวะ “ผลกระทบถ้วน” ของโควิด

ฉบับหนึ่งเป็นของ “นายสมัยสงคราม” ที่ถ่ายให้อ่านและดู

ผู้มีอาชีพ “หมอ” อ่านแล้วอาจไม่สบายใจ

กระนั้นต้องยอมรับว่า มหาวิกฤตครั้งนี้ นำไปสู่การตั้งคำถาม วิจารณ์ วิพากษ์ หรือแม้กระทั่งด่า

ไม่พ้นแม้แต่ผู้ประกอบอาชีพหมอ ที่ปกติจะถูกละเว้นไม่เป็นเป้าการโจมตีนัก

แต่มหาวิกฤตโควิดที่กระทบกว้างและลึกนี้

ทำให้ นายสมัยสงคราม มีความรู้สึกและเข้าไป “แตะต้อง” หมออย่างที่เห็น

 

ไปรษณียบัตรอีกฉบับจาก “สมวุฒิ สุนทรวิจิตร”

ว่าด้วยการ “เลื่อนชั้น-ตกยกชั้น”

ความว่า

“…บรรยากาศการเรียนออนไลน์ที่บ้านของลูก เต็มไปด้วยใบงาน/การบ้าน

ไม่ทราบจะเปิดเทอมได้เมื่อใด

แต่เป็นปีที่เป็น HANDICAP CLASS ยกประโยชน์ให้จำเลย

อาจจะออกข้อสอบไม่ยากนัก และสามารถเปิดหนังสือได้บางวิชา

หากผู้สอบเรียนมา อ่านมาจริง คงจะเอาตัวรอดได้

ภาวะนี้ยังดีกว่าสมัยสงคราม ที่พ่อมักบอกว่า ปีนั้นเขาให้เลื่อนชั้นขึ้นไปไม่ต้องสอบ

ย้อนกลับมาดูรัฐบาลและนักการเมือง

ที่ตกยกชั้น ไม่ค่อยได้ยินยอมพร้อมใจกันแก้ปัญหาให้บ้านเมือง

คอยป้องปัดขัดกันจนไม่เป็นอันทำงาน

ย้ายพรรค แตกก๊ก ทุจริต คอร์รัปชั่น แทงกั๊ก ฯลฯ

คนที่เลือกตั้งท่านเข้าไปเขามองตาปริบๆ มาทุกสมัย

เมื่อไหร่ประชาธิปไตยจะได้ผล

อยากให้ประชาชนคุมอำนาจเอง

ถามว่าอยากเลือกตั้งไหม รู้สึกเปลืองกระดาษมาก”

สมวุฒิ สุนทรวิจิตร

 

ไม่ว่า อยากหรือไม่อยากเลือกตั้ง

เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น

เราก็คงต้องช่วยกันไปแสดงสิทธิ

แม้จะมากด้วย “เงื่อนปม” ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

แต่หากประชาชนร่วมกันแสดงความต้องการร่วมกันมากๆ “พวกตกชั้น” เขาก็ไม่มีทางบิดพลิ้วได้

ต้องทำตามสิ่งที่ประชาชนต้องการ

โดยเฉพาะการดูแลอนาคตของชาติที่ผจญภัยอยู่ในระบบเรียน “ออนไลน์” ที่น่าห่วงใยยิ่งในปัจจุบัน

 

ปิดท้ายด้วยการแนะนำตอนแรกของซีรี่ส์สั้นๆ แต่ยาวและลึกกระทบความรู้สึก จากอาจารย์วัลยา วิวัฒน์ศร ที่หน้า 34

ในหัวข้อ ตรงๆ เรียบๆ แต่ร้าวลึกด้วยผลกระทบของโรคระบาดครั้งนี้

“เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19”

“…ดิฉันได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรกเมื่อเช้าวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ไม่มีอาการข้างเคียงแต่อย่างใด นอกจากง่วงนอนในตอนบ่าย ทั้งนี้ คงเป็นเพราะคืนก่อนวันฉีดมีเหตุให้ได้พักผ่อนไม่เพียงพอ

สามีดิฉันอายุ 72 ปี ดิฉันมีอายุ 73

สามีเป็นโรคพาร์กินสันมาเก้าปีเต็ม ทำให้ดิฉันจำเป็นต้องหาแม่บ้านมาช่วยตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพราะตนเองไม่อาจดูแลคนเดียวได้ แม้สามีจะยังไม่ใช่ผู้ป่วยติดเตียง

แล้วเราก็ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากแม่บ้าน…”

 

นั่นคือ จุดเริ่มต้นซีรี่ส์นี้

แม้จะมีคนไทยกว่าล้านคนเผชิญชะตากรรมจากโรคระบาดร้ายนี้

และเราได้รับทราบโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมากมายสุดคณา

แต่ก็ไม่เคยชาชิน

ทุกครั้งที่ได้รับทราบ รับฟัง และได้สัมผัส

ล้วนแต่เศร้าสะเทือนใจทุกครั้งไป

รวมถึง “เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19″ ของอาจารย์วัลยา วิวัฒน์ศร นี้ด้วย

โปรดติดตาม