ขอแสดงความนับถือ ฉบับประจำวันที่ 17 – 23 กันยายน 2564

 

ขอแสดงความนับถือ

 

หลัง ลิซ่า BLACKPINK — ลลิษา มโนบาล ปล่อยเอ็มวีโซโล่แรก ‘LALISA’ ปังไปทั่วโลก

แน่นอน รวมถึงไทยแลนด์ด้วย

ไทยแลนด์ ที่อาจจะ Bam, bam, bam (ที่ไม่เกี่ยวกับ คฝ.–ฮา) มากกว่าใครอื่นเขา

เพราะลิซ่าใส่ชุดไทย ห่มสไบ สวมรัดเกล้ายอด มีฉากหลังเป็นปราสาทหิน เชื่อมโยงถึงบ้านเกิดของเธอที่ จ.บุรีรัมย์

เห็นแล้วเลือดไทยหลายคนพลุ่งพล่าน

–ซึ่งใครจะรู้สึกเช่นนั้น ก็ไม่ว่ากัน

แต่สำหรับแฟนๆ “คำ ผกา” คงจะ “คาดหมาย” ได้ไม่ยากว่า

เธอจะเอออวยไปกับกระแสนั้นหรือไม่

“มีอะไรมากกว่าชฎา” (หน้า 74-75) ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ น่าจะเป็นคำตอบได้ดี

 

อนึ่ง ก่อนที่จะกล่าวอะไรต่อไป

ขอแวะข้างทางสักนิด

ด้วยฝ่ายวัฒนธรรม “เคร่งครัด” ติงว่าสิ่งที่ “ลิซ่า” สวมบนศีรษะนั้น

มิน่าจะใช่ชฎา น่าจะเรียกว่า “รัดเกล้ายอด” มากกว่า

ด้วยชฎาจะใช้สำหรับละครตัวพระ

ส่วนรัดเกล้ายอด เป็นศิราภรณ์ เครื่องประดับสำหรับตัวนาง

จะสวมตั้งอยู่บนกลางศีรษะ มีดอกไม้ไหวประดับ

ดังที่ลิซ่าสวมนั่นแหละ

 

คําท้วงติงนี้ น่ารับฟัง

น่ารับฟังเช่นเดียวกับสิ่งที่ “ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ” นำเสนอในคอลัมน์ On History (หน้า 69)

เกี่ยวกับชฎา ที่พยายามให้มุมมองอย่างผ่อนคลาย และกว้างขวางมากขึ้น

โดยให้ข้อมูล “เครื่องสวมหัว” ว่ามีความเป็นมาและพัฒนามายาวนาน

“…กว่าที่จะพัฒนามาเป็นชฎานั้น ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ในแต่ละวัฒนธรรมมาอย่างชวนให้รู้สึกยุ่งเหยิงต่อการสืบค้นเลยทีเดียว

ชฎาจึงไม่ควรจะถูกนับว่าเป็นของไทยแต่เพียงผู้เดียว เช่นเดียวกับที่ไม่น่าจะถูกนับเป็นของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง เพราะเจ้าเครื่องสวมหัวชนิดนี้มีความหมายและหน้าที่การใช้งานที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม…”

นั่นคือสิ่งที่ “ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ” ชวนให้พิจารณา

และเปิดกว้างไว้ว่า ก็คงไม่ผิด หากจะเรียกสิ่งที่ลิซ่าใส่ ว่าเป็น ‘ชฎา’

ที่สำคัญ ชฎาไม่ใช่ของที่มีเฉพาะในวัฒนธรรมไทย

 

เมื่อกล่าวถึงความเป็นไทย

ก็ต้องย้อนกลับไปที่คำ ผกา ที่นำเสนอไว้ในคอลัมน์เธอว่า

“…ในประเทศของเรามันแร้นแค้นซึ่ง ‘ความสำเร็จ’ ในทุกเรื่องเช่นนี้

วิกฤตที่เกิดขึ้นกับคนไทยคือวิกฤตของความภูมิใจ

เรามีชีวิตอยู่ใน ‘ชาติ’ นี้แบบไม่รู้จะเอาอะไรไปอวดชาวโลก

นอกจากเป็นประเทศที่รัฐประหารบ่อยที่สุด

เป็นประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงสุด

เป็นประเทศที่เด็กอายุสิบกว่าๆ ออกไปประท้วงแล้วโดนตำรวจยิงไม่เลี้ยง

เป็นประเทศที่จับนักศึกษาขังคุกเพราะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

เป็นประเทศที่มีนายกฯ บุคลิกเหมือนมิสเตอร์บีน วันดีคืนดีก็นั่งเกาเท้าบนเวทีนานาชาติซะงั้น

สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่เฝ้าดูว่ามี ‘คนไทย’ คนไหนดังระดับโลกบ้าง แล้วเราค่อยไปเคลมว่า ‘เฮ้ย คนไทยเก่ง’

ความสำเร็จของลิซ่าจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นไทย และความเป็นคนไทยเลยแม้แต่น้อย

และแทบจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่เธอได้ออกจากประเทศไทย ไปอยู่ในประเทศที่สามารถเจียระไนให้เธอได้เป็นดาวจรัสแสงบนเวทีระดับโลกได้จริงๆ

กุญแจที่ทำให้ลิซ่าประสบความสำเร็จระดับโลก

คือการที่เธอได้ออกจากทุกอย่างที่เป็นความไทยๆ…”

 

นั่นคือ ข้อสรุปในสไตล์ของคำ ผกา

ที่แม้จะแรง แต่ก็ย้ำให้เราสรุปได้อย่างหนึ่งว่า

เราสามารถจะสวมกอด “ลิซ่า” ได้เต็มอ้อมแขน

ในฐานะที่เธอเป็นเด็กสาวไทย ที่ประสบความสำเร็จจากความพยายาม ความสามารถของเธอ และการบริหารจัดการของ “เคป๊อป”

แต่คงกอดไม่ได้เต็มแขนแน่ๆ

หากจะไปอ้างว่า ความสำเร็จของลิซ่า เกิดขึ้นเพราะความ “เป็นไทย”

อ้างเช่นนั้น ไม่ใช่แค่ไม่สมควรได้กอด

แต่ควรมีเสียงกัดฟัน “กรอด-กรอด” ให้กับการขี้ตู่นั้นด้วย