ขอแสดงความนับถือ ฉบับประจำวันที่ 20-26 สิงหาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

สังคมไทยเป็นอย่างที่ “ไมตรี รัตนา” ว่าไว้

คือ ถูกทำลายในเกือบทุกวงการ

ทำให้ “วิกฤต” แผ่ซ่านไปแทบทุกแห่ง

ซึ่งน่าห่วงใยยิ่ง

ในคอลัมน์ “ยุทธบทความ” ฉบับนี้

อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข จึงตอกย้ำอีกครั้ง

ในประเด็น “วิกฤตและความรุนแรง!/ความคับข้องใจทางการเมือง”

ซึ่งน่าจะเตือนใจ “ผู้กุมอำนาจ” ที่ถูกปกป้องด้วยกำแพงตู้คอนเทนเนอร์ “เก่า” ให้รู้สมรู้สา

หรือได้คิดอะไรบ้าง

 

อาจารย์สุรชาติเปิดคอร์ส “ทฤษฎีความรุนแรงทางการเมือง (political violence)” ให้ได้เรียนรู้

โดยบอกว่า ในวิชารัฐศาสตร์ถือว่าการขยายตัวของ “ความเกลียดชัง”

ที่ผสมผสานเข้ากับ “ความคับข้องใจ” ทางการเมือง ในท่ามกลางวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม

เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างมาก

เพราะ “อารมณ์ทางการเมือง” จากความคับข้องใจ

คือตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มของการเกิดความรุนแรงทางการเมืองที่ชัดเจนในตัวเอง

กล่าวคือ วิกฤตก่อให้เกิดความคับข้องใจ ซึ่งจะเป็นตัวแปรตรงที่นำไปสู่การเกิดของความรุนแรงทางการเมือง

หรือโดยนัยคือวิกฤตเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

ในทางทฤษฎีในอีกด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า วิกฤตเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ

โดยอาจกล่าวเป็นข้อสรุปได้ว่า…

“ไม่มีวิกฤตชุดใดจบลงโดยปราศจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

 

“ผู้กุมอำนาจ” จึงควรเข้าใจ “ทฤษฎีความรุนแรงทางการเมือง” ให้ดี

เพราะอยู่ในฐานะที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่าง “รอมชอม” หรือ “รุนแรง” ได้ทั้งสองทาง

โดยอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข เตือนว่า ในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

อาจเกิดสภาวะที่ปัญหาใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลจะสามารถแบกรับได้ (governmental overload)

สภาวะเช่นนี้ทำให้วิกฤตมีความหมายถึง “ความผิดปกติ” (dysfunction) ของระบบ เช่น ในทางการแพทย์ วิกฤตหมายถึง “ความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย”

ทำให้วิกฤตดังกล่าวกลายเป็น “วิกฤตการเมือง” (political crisis)

อันมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “วิกฤตรัฐบาล” (government crisis)

ผลที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่ได้

อีกทั้งในสภาวะเช่นนี้ มักจะมีความรุนแรงในการต่อต้านระบอบเก่าเกิดขึ้นด้วย

การเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์วิกฤตมีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบเสมอ

และทำให้ข้อเรียกร้องที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลและ/หรือผู้นำทางการเมืองเท่านั้น

แต่อาจมีการเรียกร้องในระดับที่กว้างขึ้น

คือ ต้องการเห็น “ระเบียบการเมืองใหม่” หลังจากการยุติของวิกฤต

“วิกฤตการเมือง” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ท้าทายโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของระเบียบเก่าและชนชั้นนำเดิม (หรืออาจเรียกว่าเป็น “วิกฤตของระบบ” การเมือง)

 

ซึ่งระเบียบการเมืองใหม่ที่ว่าแม้อาจารย์สุรชาติจะยังไม่ได้ขยายเอาไว้ในที่นี้

“ระเบียบใหม่” ที่ว่า จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไร

จะลงลึกขนาดไหน

วันนี้ยังไม่มีคำตอบ

แต่ก็หวั่นใจในกระแสที่ฝ่ายค้านประโคมว่า โรค “โอหังคลั่งอำนาจ” กำลังระบาด

จะทำให้สถานการณ์เพิ่มความเลวร้ายขึ้นอีกขนาดไหน