ขอแสดงความนับถือ ฉบับประจำวันที่ 6 – 12 สิงหาคม 2564

 

ขอแสดงความนับถือ

 

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29)

ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564

สาระสำคัญ ข้อกำหนดตอนหนึ่ง “ห้าม”

“การเสนอข่าวหรือการทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร”

นำไปสู่ “ความไม่เห็นด้วย” อย่างกว้างขวาง

 

ความไม่เห็นด้วยในส่วนกฎหมาย

สะท้อนผ่านกลุ่มคณาจารย์นิติศาสตร์ในสถาบันต่างๆ รวม 70 คน ที่ร่วมกันออกแถลงการณ์

ชี้ว่าในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

แต่ก็ไม่สามารถระงับการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสิ้นเชิง

การจำกัดสิทธิฯ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง

ภายใต้หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญา

ข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด

อย่างการห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” นั้น

เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนมิให้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก

และห้ามสื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าว

เพราะบุคคลดังกล่าวย่อมไม่แน่ใจว่า คำพูด การแสดงออก หรือการนำเสนอข่าวสาร จะผิดกฎหมายหรือไม่

ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย (chilling effect)

ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยเกรงผลทางกฎหมายที่จะตามมา

ดังนั้น ข้อกำหนดนี้จึงมิใช่มาตรการที่เหมาะสมแต่อย่างใด

 

ความไม่เห็นด้วย ในส่วนนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน

สะท้อนผ่านแถลงการณ์กลุ่มอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่ระบุว่า การออกข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวเช่นนี้

ย่อมขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ขัดต่อหลักสากลอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้านเสรีภาพในการแสดงออก

ขัดต่อหลักการทำงานโดยอิสระของสื่อมวลชนอย่างชัดแจ้ง

หากรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องการส่งต่อข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ (Fake News) ในช่วงวิกฤตนี้

ขอเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ข้อกฎหมายเท่าที่มีอยู่

เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ฯลฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมว่ารัฐบาลศรัทธาในความเที่ยงธรรมของระบบตุลาการ

โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อกำหนดเพิ่มเติมแต่อย่างใด

 

ในเชิงวิชาชีพ “กาแฟดำ” หรือ “สุทธิชัย หยุ่น”

ในฐานะตัวแทนสื่ออาวุโส

นอกจากนำเอา “จดหมายเปิดผนึก” ของ 6 องค์กรสื่อที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านเรื่องนี้

มานำเสนอผ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้แล้ว

ยังตั้งคำถามอันแหลมคม

…ใครเป็นผู้ทำให้ ‘ประชาชนหวาดกลัว’ กันแน่?

ถ้ารัฐบาลไม่รู้ความแตกต่างระหว่างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิของประชาชน รัฐบาลกับ “ข่าวปลอม”

ถ้าผู้มีอำนาจไม่รู้ว่า “ความมั่นคงของรัฐบาล” ไม่ใช่เรื่องเดียวกับ “ความมั่นคงของรัฐ”

และถ้าผู้นำประเทศเหมาเอาว่า “ความกลัว” จะสูญเสียอำนาจมาจากการแพร่ข้อมูล และความเห็นนั้นจะทำให้เกิด “ความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน”

ก็วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า

รัฐบาลแพ้สงครามการสู้รบกับโควิด-19 แน่นอน

ทำไม “กาแฟดำ” จึง “ขมปี๋” สำหรับผู้มีอำนาจเช่นนั้น