ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
แม้น้องเทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จะอิ่มล้นคำ “ขอบคุณ” มากเพียงใดก็ตาม
กระนั้น “มติชนสุดสัปดาห์” รวมถึงผู้อ่านของเรา คงไม่อาจไม่กล่าวคำขอบคุณต่อเทนนิส พาณิภัค ได้
เพราะสิ่งที่เธอทุ่มเทฝึกซ้อมมาอย่างหนัก
ได้ทำ ให้คนไทยซึ่งทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 มาร่วม 2 ปี มีความสุข
เป็นความสุขอัน “อิ่มล้น” อย่างแท้จริงเช่นกัน
เชื่อว่า แม้แต่ผู้ป่วยที่ต้องกักตัวอยู่
ความสุขจากเทนนิส พาณิภัค ก็คงแวบเข้ามาให้แช่มชื่นในหัวใจเช่นกัน
นี่จึงเป็นคำตอบ ไฉนจึงต้องขอบคุณเธอ
และคงต้องขอบคุณผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ทำให้ “ความสุขหมู่” เกิดขึ้น
ดังในคอลัมน์เครื่องเคียงข้างจอ ของวัชระ แวววุฒินันท์ ที่ปรบมือให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคน
ทั้งครอบครัวของน้องเทนนิส สมาคมกีฬาเทควันโดฯ และเจ้าหน้าที่ทุกคน โค้ชเช ยอง ซอก และสตาฟฟ์ทีมงาน
โดยเฉพาะโค้ชเชที่ใฝ่ฝันจะพานักกีฬาของเขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้ได้ในนามโค้ชสัญชาติไทย
หลังจาก 19 ปีที่มุ่งมั่น น้องเทนนิสก็ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริง
แม้ว่าในวันที่สำเร็จ โค้ชเชจะยังไม่ได้สัญชาติไทย 100% อย่างที่ต้องการก็ตาม
ในวันที่คนไทยมีความสุขดังกล่าว
“วัชระ แวววุฒินันท์” ได้ชี้ชวนให้เราใส่ใจ “เครื่องเคียง” ในเวทีเช่นกัน
เพราะเราได้เห็นโมเมนต์ดี-ดีเกิดขึ้นที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมไม่น้อย
นั่นคือ ความมีน้ำใจนักกีฬาของ “ผู้แพ้”
คือสาวน้อยนักเตะชาวสเปน 17 ปี “อาเดรียน่า เซเรโซ อิเกลเซียส”
“…หลายคนประทับใจในความสดใสของเธอ ยามเธอเดินเข้าสู่สนาม เธอจะฉีกยิ้มกว้าง ดวงตามีประกาย เหมือนเด็กเดินเข้าสวนสนุก มากกว่านักกีฬาเดินสู่สนามแข่งขัน
เธอเป็นม้ามืดที่คว่ำตัวเต็งมาทุกรอบจนได้มาชิงชัยกับน้องเทนนิสของเรา
เธอเกือบจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศสเปนได้แล้ว
ถ้าไม่เกิดปรากฏการณ์ 7 วินาทีสุดท้ายของเทนนิส
เมื่อหมดเวลา เธอทรุดตัวลงร้องไห้อย่างเสียดายที่เหรียญทองถูกกระชากไปอีกแค่ 7 วินาทีเท่านั้น
แต่ไม่ช้าเธอก็ยันกายลุกขึ้นชูมือแสดงความยินดีกับน้องเทนนิสของไทย
และยังให้สัมภาษณ์ชื่นชมว่าคู่ต่อสู้จากประเทศไทยสมควรเป็นผู้ชนะแล้ว
ที่น่าชื่นชมคือ วุฒิภาวะที่เกินเด็กอายุ 17 ปีของเธอ สำหรับเด็กอายุเท่านี้ การได้เข้ามาแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็นับว่ามากเกินความคิดฝันแล้ว…
…เราเชื่อว่าเธอจะไปได้อีกไกลในโลกของกีฬาที่เธอรักนี้…”
นั่นคือสิ่งที่วัชระ แวววุฒินันท์ ชี้ชวนให้แลเห็น
ความงดงามในความพ่ายแพ้
ส่งท้ายกันที่บทความพิเศษของ “สุภา ปัทมานันท์”
ที่ติดตามเรื่องราวของญี่ปุ่นและหยิบมานำเสนอให้ “มติชนสุดสัปดาห์” โดยตลอด
สัปดาห์นี้ เธอไปสำรวจความ “ขลุกขลัก” ที่เกิดขึ้นในโตเกียว โอลิมปิก 2020 มาให้อ่าน
อ่านพร้อมกับชักชวนชาวโลกช่วยกันเป็นกำลังใจให้ญี่ปุ่นจัดงานโอลิมปิกผ่านพ้นไปด้วยดีจนจบงาน
“…มีเสียงจากบรรดาแพทย์ญี่ปุ่นผู้ใกล้หมดแรงจากการต่อสู้กับโควิด-19 ว่า อยากให้คนไข้ลดลงและหายป่วย
มากกว่าอยากได้เหรียญทองจากโอลิมปิกของนักกีฬาญี่ปุ่น”
นี่คือ 2 ด้าน ร้ายและดี ของเหรียญโอลิมปิก
แน่นอนไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่นที่เผชิญ
หากแต่รวมถึงไทยแลนด์ที่สะบักสะบอมด้วย…