ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 23-29 กรกฏาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

คอลัมน์มองไทยใหม่ ของมติชนสุดสัปดาห์นี้

นิตยา กาญจนะวรรณ นำเสนอซีรีส์น่าติดตาม

“อีก 20 ปีข้างหน้า ภาษาไทยจะเป็นอย่างไร”

ด้วยการหยิบเนื้อหาการเสวนาเรื่อง “แนวโน้มโลก แนวโน้มประเทศไทย” ที่ว่าด้วยเรื่อง “ภาษาไทย” อันเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย “Future Thailand”

ที่มีการนำเสนอเมื่อวันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

อยากรู้ว่าภาษาไทยในอีก 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี จะเป็นอย่างไร

คงต้องติดตามจากคอลัมน์มองไทยใหม่ ที่จะเริ่มทยอยนำเสนอให้อ่าน

ในตอนแรก อาจารย์นิตยาอุ่นเครื่องโดยเกริ่นให้ทราบที่มาที่ไปของเรื่องก่อน

 

แต่ที่ไม่ต้องรอ

คือคอลัมน์ “มิตรสหายเล่มหนึ่ง” ของนิ้วกลม

ที่นำเสนอหัวข้อ “เหตุผลที่คนหนุ่ม-สาว ไม่เชื่อผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน”

อันเชื่อมโยงกับ “ภาษา” ด้วย

โดย “นิ้วกลม” เกริ่นไว้ในคอลัมน์ว่า

“…หากเราเชื่อว่าการใช้ภาษาที่แตกต่างกันสามารถกำหนดวิธีมองโลกและเข้าใจชีวิตที่แตกต่างกันได้

ย่อมเข้าใจได้ไม่ยากว่าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปจะคิดเห็นแตกต่างไปจากผู้อาวุโสที่หายใจบนโลกนี้มานานกว่า

มีตัวเลขน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

คือพจนานุกรมในฝรั่งเศสฉบับราชบัณฑิตยสภาจะมีการปรับปรุงทุก 20 ปี

โดยประมาณตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ในศตวรรษก่อนๆ จำนวนคำในพจนานุกรมฉบับเก่ากับฉบับใหม่จะต่างกันราว 4,000-5,000 คำ และเป็นเช่นนี้เกือบทุกครั้ง

แต่ปรากฏว่าพจนานุกรมฉบับใหม่ๆ กลับมีจำนวนคำต่างกันถึง 35,000 คำ

นั่นหมายความว่าในช่วงเวลา 20 ปี มีถ้อยคำใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้น

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและข้อมูลมหาศาลที่ถาโถมเข้าใส่โลกใบเดิม

แน่นอนว่าผู้ใหญ่รุ่น 60-70 ปีเคยได้ยินคำจำพวกคริปโตเคอร์เรนซี่ บิตคอยน์ บล็อกเชน อินสตาแกรม ไซบอร์ก พันธุวิศวกรรม วิศวกรรมชีวภาพ อัลกอริธึ่ม ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ

บางคนอาจรู้จักและเข้าใจ

แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ได้เติบโตขึ้นมาและมีคำเหล่านี้วนเวียนอยู่ในชีวิต

ยังมิต้องนับคำสนุกๆ อย่างเฟียร์ส (แรง) เกรียม (ที่ไม่ได้แปลว่าไหม้) ดือ (ที่แปลว่าดี) ใจบาง (แพ้ทาง) ไอ้ต้าว (ใช้นำหน้าสิ่งน่าเอ็นดู) ฯลฯ อีกมากมาย

จึงไม่แปลกที่บางครั้งจึงเหมือนอยู่กันคนละโลก”

 

ภาษาจึงเป็นตัวสะท้อนสำคัญที่ “นิ้วกลม” บอกว่า

(เมื่อ) ภาษาเปลี่ยน

แปลว่าโลกเปลี่ยน

เทคโนโลยีเปลี่ยน

วิถีชีวิตเปลี่ยน

การงานเปลี่ยน

คุณค่าหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปด้วย

และที่สำคัญ เปลี่ยนในอัตรา “เร่ง” ที่รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

 

“นิ้วกลม” ย้ำให้ตระหนักว่าเมื่อทุกสิ่งเยอะ เร็ว รีบ ความรู้สึกที่มีต่อความเร็ว (sense of speed) ของพวกเขาย่อมต่างจากคนรุ่นก่อนมาก

การรอคอยกลายเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย

เมื่อผู้ใหญ่บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา”

พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าใจได้ ในเมื่อทุกอย่างในชีวิตมันฉับไวกว่านี้ทั้งนั้น

จึงเกิดความรู้สึกไม่ทันใจ ซึ่งในสายตาผู้ใหญ่อาจมองว่า ‘ใจร้อน’

การบอกให้เชื่อฟังโดยบอกว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน

น้องๆ หลานๆ อาจถามว่า แล้วลงไปอยู่ในน้ำร้อนทำไม หรือตกลงพี่อาบหรือพี่ถูกต้ม!

คนหนุ่ม-สาวไม่เชื่อผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน

เหมือนตกอยู่ในภาวะ การพูดกันคนละภาษา ทั้งที่พูดภาษาเดียวกันแท้-แท้

แล้วอีก 20 ปีข้างหน้าล่ะ!!