ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 16-22 กรกฎาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

“ไม่ว่านายทหารคนนั้นจะมีความสามารถสักเพียงใดก็ตาม

แต่ถ้ากำลังพลได้สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเขาแล้ว

มั่นใจได้เลยว่า ไม่ช้าก็เร็ว หายนะจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

คือคำกล่าวของ General Robert E. Lee (1863)

 

“ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าเราสามารถย้อนเวลากลับไปก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ได้จริงแล้ว

น่าลองถามใจผู้นำรัฐประหารว่า พวกเขาจะยังตัดสินใจยึดอำนาจหรือไม่…

หรือพวกเขาจะเชื่อแต่บรรดากองเชียร์และชนชั้นนำที่ต้องการให้กองทัพใช้กำลังทหารล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการ

เพราะพวกเขาเชื่อเสมอว่า อำนาจของทหารจะเป็นหลักประกันของการแก้ปัญหาทุกอย่างให้สำเร็จได้

จริงหรือที่อำนาจที่ผู้นำทหารมีจะแก้ปัญหาทุกอย่างของสังคมไทยได้

แน่นอนว่าชนชั้นนำและบรรดากลุ่มขวาจัดที่สนับสนุนการยึดอำนาจมักจะตกอยู่ใน ‘ภวังค์ความคิด’ ของหนังสือ ‘เทพนิยาย’ ว่า ผู้นำทหารจะเป็น ‘อัศวินม้าขาว’ เข้ามาแก้ปัญหาทุกอย่าง และพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่รุ่งเรือง

แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังสะท้อนภาพอีกด้านให้เห็นถึงการไร้ขีดความสามารถของผู้นำทหารในการแก้ปัญหาของประเทศ

ในขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของสังคมต่อการแก้ปัญหาของพวกเขากำลังลดต่ำลงทุกขณะ

จน ‘ดัชนีความเชื่อมั่น’ ในตัวผู้นำรัฐบาลกำลังเป็น ‘วิกฤตศรัทธา’ที่มาพร้อมกับคำถามว่า ‘เราจะยังคงใช้ผู้นำทหารแก้ปัญหาของประเทศอีกหรือ?’ …”

คือข้อเขียนของสุรชาติ บำรุงสุข ในคอลัมน์ยุทธบทความ มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

 

ไม่ว่า General Robert E. Lee

ไม่ว่า สุรชาติ บำรุงสุข

ต่างเห็นพ้องต้องกัน ถึงผู้นำจะมากล้นอำนาจ แต่เมื่อเผชิญวิกฤตศรัทธาแล้ว

ย่อมยุ่งยากอย่างยิ่งที่จะนำ

นำทั้งในสมรภูมิสนามรบ และนำทั้งในสมรภูมิการบริหารของรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไรตอนนี้

คนไทยคงประจักษ์ในสายตากันแล้ว

 

ทั้งนี้ ถ้าดูจากยอดคนติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในแต่ละวันแล้ว

อาจารย์สุรชาติตอกย้ำว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม

ไม่ใช่สงครามที่ผู้นำทหารคุ้นเคย

และไม่ใช่ “สงครามตามแบบ” ที่ผู้นำทหารชอบ อันเป็นโอกาสให้กองทัพทุ่มงบประมาณไปจัดซื้ออาวุธได้มากขึ้น

วันนี้รายการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารในยุครัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรถถัง เรือดำน้ำ และอาวุธอื่นๆ ที่ดำเนินการสั่งซื้อจากจีน

ไม่ได้สะท้อนอะไรมากไปกว่า “ลัทธิอาวุธนิยม” ที่ครอบงำจิตใจของผู้นำทหารไทยมาในทุกสมัย

แต่สถานการณ์จริงในวันนี้ ประเทศกำลังเผชิญกับ “สงครามโรคระบาด”

ซึ่งกำลังท้าทายอย่างมากว่า ทหารที่เป็นผู้นำรัฐบาล

มีขีดความสามารถเพียงพอในการแก้ปัญหาของประเทศหรือไม่

พวกเขามี “หลักวิชาทหาร” มากพอที่จะช่วยสร้างให้รัฐไทยมีขีดความสามารถในการรับมือกับสงครามชุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

หากพิจารณาจากผลของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

เราอาจจะต้องถือว่า “สงครามโควิด-19” ครั้งนี้ พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวของผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารต่อการขาดความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของสงคราม

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้นำทหารไทยหมดสิ้นความเป็น “ทหารอาชีพ” ไปนานแล้ว

 

นั่นคือ ข้อสังเกตจากอาจารย์สุรชาติ

ซึ่งคงตรงใจกับคนไทยหลายๆ คน

พลิกอ่านบทความ “สงครามใหญ่ของรัฐไทย! วิชาทหารในสงครามโควิด” เต็มๆ ที่หน้า 34-35