ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 28 พ.ย. – 3 มิ.ย. 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา 31 พฤษภาคมนี้

แน่นอนที่สุด

งบประมาณด้าน “สาธารณสุข”

ย่อมถูกนำไปเทียบกับงบประมาณ “ทหาร”

อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

และแน่นอน กลาโหมเป็นตำบลกระสุนตกแน่นอน

ไม่เชื่อลองไปอ่าน “ยุทธบทความ” ของ “สุรชาติ บำรุงสุข” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

ที่ช่วยอุ่นเครื่องให้ ในหัวข้อ

“โลกของทหารไทย : โลกของการซื้ออาวุธ!”

 

อาจารย์สุรชาตินำเสนอ “ลัทธิอาวุธนิยม” ขึ้นมาให้พิจารณา

พร้อม-พร้อม ตั้งแท่นให้ติดตามเรื่องว่า

“…เมื่อต้องพิจารณาปัญหาความมั่นคงไทยในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนับตั้งแต่ต้นปี 2563 และเกิดต่อเนื่องมาเป็นระลอกที่ 3 ในปัจจุบันนั้น

ความต้องการมีระบบอาวุธสมัยใหม่ของผู้นำทหารที่มีราคาแพง

เป็นประเด็นที่ต้องนำมาคิดใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในยามที่ประเทศต้องการงบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้ในทางการแพทย์

เพื่อต่อสู้กับ ‘ปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุข’ นั้น

กองทัพกลับเดินหน้าตัดสินใจจัดซื้ออาวุธ

โดยไม่ใส่ใจกับ ‘สภาวะแวดล้อมภายในที่เป็นจริง’ ของสังคมไทยที่กำลังเผชิญกับ ‘ภัยคุกคามชุดใหม่’

อันเป็นเรื่องของ ‘สงครามโรคระบาด’

ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2563 ที่การระบาดระลอกแรกเริ่มขึ้น

ได้มีเสียงเรียกร้องในสังคมอย่างมากให้มีการปรับลดงบประมาณทางทหาร

โดยเฉพาะยุติการซื้ออาวุธ

ที่หลายภาคส่วนในสังคมมีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ไม่มีความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงในยามที่ประเทศต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดของเชื้อโควิด-19

ตลอดรวมทั้งการยกเลิกรายการจัดหาที่มีมูลค่าสูง เช่น กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำและรถถังจากจีน เป็นต้น…”

แต่เสียงเรียกร้องดังกล่าวเป็นอย่างไร…

 

อาจารย์สุรชาติบอกว่า

“…ไม่ค่อยจะมีผลในทางปฏิบัติเท่าที่ควร

เพราะผู้นำรัฐบาลที่มาจากทหารที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

มีความจำเป็นที่ต้องรักษาฐานการเมืองในกองทัพ

จึงไม่ยอมที่จะลดทอนงบฯ ทางทหารที่ไม่จำเป็นลง

สิ่งที่เกิดในยุคโควิดสะท้อนให้เห็นว่า กองทัพในการเมืองไทยจึงมีสถานะเป็น ‘The Untouchable’ ที่ไม่อาจแตะต้องได้

หรืออาจเป็น ‘Untouchable Class’ ในสังคมไทย!

ดังนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย

กองทัพจะยังอยู่ในโลกของตัวเองเสมอ

และเป็นโลกที่ทหารเป็นใหญ่โดยไม่ต้องคำนึงถึงสังคม…”

 

อาจารย์สุรชาติบอกว่า เราเคยมีความหวัง

“…เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บัญชาการเหล่าทัพตามวงรอบของการเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2563

ทำให้ยังพอมีความหวังว่า ‘ลัทธิอาวุธนิยม’ จะถูกลดทอนลงได้บ้าง

เพราะ ‘นักช้อป’ บางคนจากบางเหล่าทัพที่เป็นพวกสมาทาน ‘ลัทธิบูชาอาวุธ’ ได้หมดวาระลงแล้ว

และอาจจะเป็นโอกาสให้กองทัพได้ตระหนักถึงบทบาทที่เหมาะสมของทหารในสังคมที่เผชิญกับโรคระบาดได้บ้าง (แม้ ‘นักช้อปรายใหญ่’ จะยังมีอำนาจในกระทรวงกลาโหมก็ตาม)

แต่ความหวังดังกล่าวก็เป็นความท้าทายอย่างมากว่า

ผู้นำทหารไทยตระหนักถึงปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญเพียงใด”

 

นี่คือคำถามอันแหลมคม ซึ่งไม่เฉพาะอาจารย์สุรชาติเท่านั้นที่ถาม

ฝ่ายค้านก็ถาม

ประชาชนข้างนอกก็ถาม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กองทัพ จะต้องตอบ

และต้องตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์

ซึ่งคงเดือดพล่านในการพิจารณางบประมาณปี 2565