ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ครบ 120 ปี ปรีดี พนมยงค์

ณัฐพล ใจจริง ร่วมรำลึกผ่านคอลัมน์ My Country Thailand

ในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับความใฝ่ฝันที่ไม่เคยล้าสมัย : รำลึก 120 ปี ปรีดี พนมยงค์”

“…แม้นนายปรีดีจะสร้างคุณูปการไว้มากมาย

แต่ความผันผวนทางการเมืองของไทยภายหลังการรัฐประหาร 2490

ทำให้เขาและคณะราษฎรพ้นออกจากอำนาจ

ตลอดจนกลุ่มอนุรักษนิยมพยายามสร้างภาพลักษณ์ของนายปรีดีให้กลายเป็นปีศาจทางการเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม

นับแต่กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

คนหนุ่ม-สาวพยายามฟื้นภาพของเขากลับมาสู่สังคมอีกครั้ง

นับแต่นั้น ภาพลักษณ์ อุดมคติและคุณูปการของเขา มิตรสหายและคณะราษฎรถูกนำมาฟื้นฟู และตีความใหม่

ให้กลับมาเปล่งประกายเป็นความรู้ใหม่ที่ท้าทายความรู้เก่า

อันเป็นแรงดลใจในการต่อสู้และความใฝ่ฝันแก่คนรุ่นถัดไปที่ต้องการสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมไทย

ดุจเดียวกับนายปรีดีและคณะราษฎร ผู้กล้าหาญเมื่อครั้งนั้น”

 

“ความรู้ใหม่ ที่ท้าทายความรู้เก่า” ที่ณัฐพล ใจจริง ขับเน้นว่า เป็นสิ่งที่ “คนหนุ่ม-สาวพยายามฟื้นภาพของปรีดี พนมยงค์ กลับมาสู่สังคมอีกครั้ง”

แม้จะขยายตัวไปอย่างไม่หยุดยั้ง

แต่ก็มีแรงเสียดทานอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน

และแรงเสียดทานนั้น เราจะเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เมื่ออ่านคอลัมน์ พื้นที่ระหว่างบรรทัด ของชาตรี ประกิตนนทการ

ที่นำเสนอบทความ “ความคิดสร้างสรรค์ในวัฒนธรรมตีมือ”

อะไรคือ “วัฒนธรรมตีมือ”

 

ชาตรี ประกิตนนทการ สนใจปรากฏการณ์อะลัวพระเครื่อง, เค้กพระเครื่อง, พระพุทธรูปอุลตร้าแมน และทศกัณฐ์หยอดขนมครก

โดยมองว่า การเข้าไปใช้อำนาจขู่บังคับสั่งห้ามทำอะลัวพระเครื่อง, เค้กพระเครื่อง, พระพุทธรูปอุลตร้าแมน และทศกัณฐ์หยอดขนมครก

โดยอ้างเรื่องทำลายวัฒนธรรมของชาติ หรือลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น

คือตัวอย่างของ “วัฒนธรรมตีมือ”

 

“…วัฒนธรรมตีมือในสังคมไทยฝังตัวเองอยู่ในระดับลึกที่สุดภายในระบบการศึกษา

ครูอาจารย์คือนักตีมือตัวยง

พวกเขาคือคนที่ประสาทวิชาและให้ความรู้ นี่คือประโยคที่เราได้ยินเสมอตั้งแต่เด็ก

แต่สิ่งที่ครูอาจารย์ไม่ได้บอกหรือไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอยู่ก็คือ ครูอาจารย์ (ส่วนมาก) คือคนที่ประสาทวิชาความรู้เฉพาะเรื่องที่อยู่ภายในกรอบและภายในกรงเท่านั้น

นักเรียนคนไหนคิดต่างและกำลังจะก้าวออกนอกกรอบที่การศึกษาไทยขีดไว้ ครูอาจารย์จะเข้ามาทำหน้าที่ตีมือและดึงกลับเข้ามากรงอยู่เสมอ…”

คือข้อสังเกตของชาตรี ประกิตนนทการ

และย้ำว่า “วัฒนธรรมตีมือ” ที่มากจนล้นเกินนี้เอง

เป็นการสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว ที่ขัดขวางเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของการสร้างสรรค์

ชาตรี ประกิตนนทการ เรียกร้องให้ลดวัฒนธรรมตีมือลง

เพื่อสร้างเงื่อนไขให้คนกล้าที่จะคิดนอกกรอบ

กล้าออกจากกรง

กล้าขยายเพดานความคิด จนนำไปสู่การสร้างสรรค์ได้ในที่สุด

การลดวัฒนธรรมตีมือลง อาจทำให้เกิดงานที่แปลกแหวกขนบแต่ไร้ซึ่งการสร้างสรรค์ออกมาหลายพันชิ้น

แต่งานสร้างสรรค์ที่แท้จริงเพียงชิ้นเดียว

ก็มีคุณค่ามากมหาศาลยิ่งแล้ว

 

สําหรับคนรุ่นใหม่

เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ที่ควรจะร่วมลด “วัฒนธรรมตีมือ” (อันหมายรวมถึงการจับกุมคุมขัง และตั้งเงื่อนไขการประกันตัวที่แสนยาก) ลง

แต่ตอนนี้ สังคมไทยเปิดกว้างหรือไม่

กรณีอะลัวพระเครื่อง ไปจนถึงการด้อยค่า 2475 คณะราษฎร ปรีดี พนมยงค์ เป็นคำอธิบายที่ดี