ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 23-29 เมษายน 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

จากกลุ่มราษฎร

วันนี้เรารู้จัก

กลุ่ม ‘ราษมัม’

ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่ม “แม่” ของนักศึกษา-นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำโดยไม่ได้การประกันตัว

นำโดยสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, มารดาไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, มารดาแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, มารดาอานนท์ นำภา และมารดารุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ฯลฯ

เป้าหมายของกลุ่ม ‘ราษมัม’ คือการเรียกร้องและทำกิจกรรมรณรงค์ให้ปล่อย “ลูกๆ” ออกมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

อาทิ การถือภาพลูกๆ พร้อมข้อความ ‘ปล่อยลูกแม่’ ไปร่วมกันยืน 112 นาที หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

เป็นการแสดงออกในแนวสันติวิธีของเหล่าแม่ๆ

ภายใต้แคมเปญ ‘ยืน หยุด ขัง’

 

กลุ่มราษมัมข้างต้น

แตกต่างอย่างแน่นอนกับกลุ่มพ่อ-แม่

ที่ “ธงทอง จันทรางศุ” ในฐานะอาจารย์พิเศษแห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬามหาวิทยาลัย นำมาเขียนในคอลัมน์ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

 

“…เมื่อไม่กี่วันมานี้

ผมได้รับทราบด้วยความประหลาดใจว่าผู้ปกครองหรือคุณแม่ของนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผมยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสืออยู่ ท่านมีกลุ่มไลน์สำหรับติดต่อกันเองในระหว่างผู้ปกครอง

แปลกใจแล้วก็ต้องอยากรู้ต่อไปว่า ท่านมาพบติดต่อครั้งแรกกันอย่างไร จึงจะมีไลน์ไอดีของกันและกันได้

เพราะนึกว่าลูก-หลานคงไม่อยากให้มีไลน์กลุ่มนี้เป็นแน่

ถามไถ่ได้ความว่า ในการปฐมนิเทศนิสิตแรกเข้า นอกจากการพบปะให้ข้อมูลกับนิสิตเองเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยแล้ว

ยังมีการ “ประชุมผู้ปกครอง” ของนิสิตด้วย

มองในแง่มุมที่ดี

การที่คณาจารย์ได้พบผู้ปกครองและผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลว่า ทุกวันนี้การศึกษาวิชากฎหมายเขาทำกันอย่างไร

ชีวิตของนิสิตมหาวิทยาลัยไม่เหมือนชีวิตนักเรียนโรงเรียนมัธยม ทางเลือกของชีวิตหลังจบการศึกษาแล้วในอนาคตมีอะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นคุณประโยชน์ที่ผู้ปกครองจะได้มีความเข้าใจได้ถูกต้องว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้บ้าง

ในมุมมองอย่างนี้ พบกันครั้งเดียวก็พอครับ พบแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ต่างคนต่างไปจัดการชีวิตของตัวเอง

แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงนี่สิครับ

น่าดูมาก…”

 

น่าดูอย่างไร

และทำไมอาจารย์ธงทองจึงมีคำถามว่า

“ผมชักไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์นี้

เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยระดับชาติ

หรือในโรงเรียนอนุบาลหมีน้อยกันแน่…”

โปรดพลิกอ่าน “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ที่หน้า 52

 

 

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จบบทความ “เสรีภาพทางวิชาการ” ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ความตอนหนึ่งระบุไว้ว่า

“…วัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อเสรีภาพทางวิชาการนั้น เป็นส่วนหนึ่งของสาระสำคัญในการศึกษาไทยทุกระดับ

คือนับตั้งแต่วันแรกที่เด็กถูกพาไปโรงเรียนอนุบาล

จนถึงวันที่ได้ผ่านพิธีรับปริญญาบัตร

ไม่มีสักวันเดียวที่เด็กไทยจะสามารถคิดเองเลือกเองได้ว่า อะไรคือ propriety (ความถูกต้อง, เหมาะควร, ชอบธรรม, สุภาพ อะไรๆ เหล่านี้ปนกัน)

คนที่โตมาใน “เครื่องแบบ” ที่เคร่งครัดตั้งแต่ทรงผมลงมาถึงเสื้อใน ขอบกระโปรง-กางเกง จนถึงถุงน่องรองเท้า จะสามารถคิดเอง, เลือกเอง, ตัดสินใจเองด้วยความเชื่อมั่นในตนเองได้อย่างไร…”

 

นี่ย่อมเป็นคำถามอันแหลมคม

ทั้งต่อปรากฏการณ์ “ราษมัม”

และต่อปรากฏการณ์ “กลุ่มไลน์ผู้ปกครองนิสิต แห่งจุฬาฯ”