ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 2-8 เมษายน 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

สําหรับแฟนๆ การ์ตูนที่รัก

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แจ้งข่าว “ผ่าพิภพไททัน (Attack on Titan)” ฉบับมังงะของฮาจิเมะ อิซายามะ ลิขสิทธิ์ของวิบูลย์กิจ

ถึงตอนจบเล่มที่ 33 แล้วนะ

ใช้เวลาตั้งแต่กันยายน 2009 ถึงมกราคม 2021

รวม 12 ปี–ยาวนานไม่น้อยทีเดียว

 

หมอประเสริฐพาเราส่งท้าย “ผ่าพิภพไททัน” ด้วยการชี้ชวนแลผ่านแว่น “จิตวิทยา”

เป็นจิตวิทยาที่อาจทำให้เรา “ยะเยือก” ในลมร้อน

ตั้งแต่มังงะเรื่องนี้ถูกตั้งชื่อว่า Attack on Titan

ผู้ที่ถูกโจมตีคือพวกไททัน

มิใช่พวกเรา!

ซึ่งหมอประเสริฐที่แม้เชี่ยวชาญจิตวิทยา ยอมรับว่า กว่าจะ “เข้าใจ” ชื่อเรื่องได้

เวลาผ่านไปนานมาก

 

โดยมีคำอธิบายว่า ไททันเป็นตัวอย่างหนึ่งของกลไกทางจิตที่เรียกว่า projection

กล่าวคือ “เป็นเรา” นั่นแหละที่ทำ

แต่ไม่ยอมรับ

เมื่อไม่สบายใจมากพอที่เก็บกดเอาไว้ได้อีกต่อไปจึงโยนตัวการไปที่คนอื่น

ในกรณีนี้คือโยนไปให้พวกไททัน

ไททันซึ่งมีขนาดสูงใหญ่มากมาย ไม่มีสติปัญญา และขาดความรับผิดชอบอีกต่างหาก

มุ่งแต่จะกินอย่างเดียว

 

หมอประเสริฐตีแสกหน้า “เรา” อย่างตรงไปตรงมา ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า

ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ไททันหรอก

แต่เป็นพวกเราเองต่างหากที่ไม่มีความรับผิดชอบ

กินอย่างเดียว

ช่วยกันทำลายทรัพยากรและทำลายโลก

ช่วยกันทึ้งทั้งชาย-หญิง

ไม่ชายไม่หญิง และเด็กๆ

(แต่) เราโยนความผิดนี้ไปที่ไททัน

เป็นไททัน ซึ่ง (เรา) วาดภาพเสียให้น่ากลัว

พวกมันไร้เพศ รูปร่างอุจาด และมีหลายขนาด มีตั้งแต่ตัวสูง 4 เมตร ไปจนถึง 50 เมตร

เหมือนยักษ์วิปริตเดินและวิ่งเรื่อยเปื่อย

“พวกเรา” ชี้นิ้วไปยัง “พวกมัน” ต่างหากที่น่ากลัว

เป็นพวกฆ่าไม่ตายโดยง่าย

ตื่นมาเพื่อกินคนสถานเดียวแล้ว

พวกมันยังงอกแขนขาได้เมื่อถูกตัดขาด มิหนำซ้ำงอกหัวใหม่ได้ด้วย

 

เราสู้ไม่ได้

จึงต้องสร้างกำแพงสูงใหญ่ล้อมกรอบตัวเองไว้ภายใน

โดยถือว่า พวกไททันเป็นคนนอก (กำแพง)

ส่วนพวกเรา คือพวก “ข้างใน”

โดยหาเฉลียวใจไม่ว่า

ในข้างใน ก็ยังมีข้างใน แห่งข้างใน และข้างในอีก

เมืองมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็นสามเขตด้วยกำแพงสามชั้น

คือกำแพงมาเรีย ล้อมรอบประชาชนไว้

กำแพงโรเซ่ ล้อมรอบพ่อค้าไว้

และกำแพงซีน่า พระราชานักบวช ข้าราชการ และพวกทหารไว้

(หมายเหตุ หมอประเสริฐกระซิบว่า เนื้อเรื่องครึ่งหนึ่งของมังงะ เรื่องนี้มิได้โฟกัสที่การต่อสู้กับยักษ์ไททันเท่านั้น หากแต่วิพากษ์โครงสร้างสังคมหลังกำแพง โดยมีตัวแปรสำคัญคือพวกข้าราชการ และพวกทหาร)

ดังนั้น พวกไททันที่อยู่ด้านนอกกำแพง ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ไม่มีใครรู้ว่าพวกมันมีเท่าไรและอยู่กันอย่างไร

แม้จะน่ากลัว

แต่โครงสร้างข้างในกำแพง

อาจน่ากลัวกว่า?!?

 

กระนั้นเป้าหมายแห่งการต่อต้าน มุ่งไปที่ไททัน ที่เป็น “คนนอก” เป็นหลัก

หมอประเสริฐจี้จุดเข้าไปอีกว่า ความกลัวคนนอกเรียกว่า xenophobia

เป็นความกลัวสิ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือมีอำนาจมากกว่าเรียกว่า megalophobia

ความผิดทั้งหมด (จึง) เป็นของพวกมัน

(พวก) เราจึงมีความชอบธรรมที่จะฆ่า ผ่าตัด แยกร่างกาย และจับมันมาทดลองค้นคว้าเพื่อค้นหาจุดอ่อน

ทั้งหมดนี้ยังความสบายใจให้แก่เรา

หมอประเสริฐตั้งข้อสังเกตว่า ฉากต่อสู้หลายครั้งชวนให้ฉงนว่าไททันรู้สึกเจ็บหรือเปล่า

แต่ดูเหมือนผู้เขียน (มังงะ) พยายามจะข้ามข้อมูลส่วนนี้ไป

เพื่อช่วยให้เราอ่านด้วยความไม่ตะขิดตะขวงใจมากนักเวลามันถูกทรมาน

เมื่อถึงฉากต่อสู้กับไททันทีไรจึงมีความสุขมากเป็นพิเศษ อ่านง่าย สบายตา

ฆ่ากันมัน ร่างฉีกกระจุย

เป็นการฆ่าที่เราไม่ผิดเพราะไททันกัดกินเพื่อนๆ และพ่อ-แม่ของเรา

Attack on Titan จึงถูกต้องที่สุดแล้ว!!

 

นี่ถึงได้บอกว่า อ่านแล้วอาจยะเยือกในหน้าร้อน

ด้วย “เรา” ที่หมายประชาชนในกำแพงนอกสุด อาจกำลังถูกกล่อมจิตให้เกลียดชังไททัน

สามารถฆ่า “ไททันไม่บาป”

เพราะมันคือปีศาจร้าย

แต่กระนั้นโปรดพลิกอ่าน “การ์ตูนที่รัก”

ที่ นพ.ประเสริฐชี้ชวนให้คิด ที่แท้แล้ว “ไททัน” ไม่ใช่อะไรอื่น

“เป็นเรา”!?!