ขอแสดงความนับถือ : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พ.ค.-1 มิ.ย. 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

มีอีเมล ถึง มติชนสุดสัปดาห์

ส่งบทความพร้อมแนบจดหมายน้อย

“…เสนอบทความเพื่อตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์

เนื่องในโอกาสที่เหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ผ่านมาถึง 3 ปี

เพื่อให้ผู้คนยังคงจดจำถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นผ่านประสบการณ์ที่พบผมเจอกับตัวเองมาเมื่อ 3 ปีก่อน…”

 

ความจริง “มติชนสุดสัปดาห์” มีบทความและเรื่องเกี่ยวกับ 3 ปีรัฐประหาร ให้พิจารณาอยู่ไม่น้อย

แต่ที่สนใจ “อีเมล” ฉบับนี้

คงสืบเนื่องกับข้อความในบรรทัดต่อไป

“…บทความนี้เล่าเหตุการณ์ในวันนั้นผ่านมุมมองของเด็กนักเรียนธรรมดาๆ ที่กำลังจะไปดูหนังที่เพิ่งเข้าฉายในวันนั้น

จึงรบกวนโปรดพิจารณา

นายณัฐภัทร มาเดช”

หากใช้สำนวนของ บรรจง บรรเจิดศิลป์ ใน “ชีวิตและความใฝ่ฝัน” เรียกคนหนุ่มสาวว่า “เยาว์”

ณัฐภัทร มาเดช ถือเป็น “เยาว์” คนหนึ่ง

และแถมเมื่อย้อนไป 3 ปี ยังคงใส่ขาสั้นอยู่

ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นี่กระมัง ที่ทำให้บทความ “22 พฤษภาคม 2557 วันพิฆาตกู้อนาคต” ของเขา จึงสมควรได้รับการเอาใจใส่

 

วันพิฆาตกู้อนาคต ก็คือหนังฮีโร่ฟอร์มยักษ์ “X-Men : Days of Future Past” หรือในชื่อภาษาไทยเต็มๆ ว่า X-เม็น สงครามวันพิฆาตกู้อนาคต

ในความทรงจำของ ณัฐภัทร มาเดช

หลังจากดูหนังและกำลังเดินทางกลับบ้าน

“…ได้ยินเสียงผู้หญิงตะโกนเรียกชื่อ หันไปดูจึงเห็นแม่

ใช่! แม่ผมเอง กำลังวิ่งตรงมาทางผมด้วยท่าทางรีบร้อนเป็นอย่างมาก

…ไปไหนมา แม่ตามหาแทบแย่ โทร.ไปก็ไม่รับ

ไปดูหนังมาครับ แต่ปิดมือถือไว้ ลืมเปิดเครื่อง โทษทีครับ

รีบกลับบ้านได้แล้ว เกิดรัฐประหารแล้วเนี่ย ไม่รู้หรอ?

หะ? ผมกับเพื่อนค่อยๆ หันมามองหน้ากันเล็กน้อย ก่อนแยกกันกลับมาบ้าน…”

 

ผ่านมา 3 ปี

จากนักเรียนขาสั้น

วันนี้เขาคือนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และย้อนรำลึกไปถึงวันนั้น “22 พฤษภาคม 2557” และลงมือเขียนเพื่อส่งมายัง “มติชนสุดสัปดาห์”

อาจจะไม่ใช่ข้อเขียนชั้นดี หรือเยี่ยมยอด

แต่ความน่าสนใจอยู่ที่มุมมอง ที่ก่อตัวขึ้นหลังจากการไปดูหนังแอ๊กชั่น แบบเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่ง

เมื่อค่อยๆ แตกหน่อความคิดของตนเอง จนทำให้หนังแอ๊กชั่นกลายเป็นหนังตลกร้ายเสียดสีสังคมในวาระ 3 ปี การรัฐประหารไป

ยังไงนjะหรือ?

โปรดพลิกอ่านที่หน้า 92

 

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่ง จากบทความ “22 พฤษภาคม 2557 วันพิฆาตกู้อนาคต” สำหรับฝ่ายที่ต้องการ “ควบคุม กำกับดูแล” ก็คือ

นอกเหนือไปจาก การห้าม การขัดขวาง หรือขนาดจับกุม เหล่า “เยาว์” ทั้งหลายที่ทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหาร “โดยตรง” แล้ว

บางทีกิจกรรม การจับกลุ่ม ไปดูหนัง ดูคอนเสิร์ต จิบกาแฟ ของเหล่าเยาวชนทั้งหลาย ที่อาจดูไร้สาระแก่นสาร

แต่ในความเป็นจริงอีกด้าน

กิจกรรมที่บางครั้งแลดูไม่มีอะไรนั้น กลับถูกต่อเชื่อมไปถึง “เหตุการณ์ทางการเมือง” บางอย่าง อย่างคาดไม่ถึง

ดังนั้น สำหรับบางฝ่ายที่ต้องการความสงบราบคาบ หรือความสงบเรียบร้อย

อาจจะเผลอสบายใจ ที่ไม่มีม็อบ ไม่มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมทางการเมือง

หรือใครแหยมขึ้นมา ก็ใช้ “อำนาจ” เข้าควบคุม

โดยหารู้ไม่ว่า ภาพยนตร์บางเรื่อง เพลงบางเพลง

กำลังเชื่อมโยงเหล่า “เยาว์” ทั้งหลาย ให้กลายเป็น “พลัง” ที่รวมตัวขึ้นมาเพื่อมี “ปฏิกิริยา” ต่อความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างเงียบๆ

“22 พฤษภาคม 2557 วันพิฆาตกู้อนาคต” อาจคือตัวอย่างนั้น

ครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร “สงบราบคาบ” จริงหรือ!?!