ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

“เรื่อง” ใหม่

“แนวคิด” ใหม่

ย่อมนำไปสู่การสั่นคลอน-สั่นสะเทือน-สั่นไหว

ต่อเรื่อง “เก่า” และแนวคิด “เก่า” อย่างหลีกเลี่ยงมิได้เสมอ

จึงต้องอาศัยการ “เปิดกว้าง” ในการสัมผัสและเรียนรู้สิ่งใหม่นั้น

อนึ่ง สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไป แม้จะเกี่ยวกับเรื่องเปลือย-เปลือย

แต่มิได้เกี่ยวข้องกับการเซฟ หรือไม่เซฟ Pornhub แต่อย่างใด (ฮา)

 

ในคอลัมน์ธรรมลีลา “ฉัตรสุมาลย์” ผู้เขียน

เล่าว่า

หลายปีก่อน ในช่วงการภาวนา

เคยเขียนบทกวีด้วยจินตนภาพว่าตนเองกำลังยืนอยู่ต่อหน้าพระเจ้า

ในลักษณะเปลือย!

หากมองในทัศนะเก่า และอย่างรวบรัด

ย่อมเป็นเรื่องบัดสีบัดเถลิงแน่นอน

แต่กระนั้น เมื่อฟังคำอธิบายจากฉัตรสุมาลย์แล้ว

อาจเปลี่ยนความคิดและความเข้าใจว่า ไฉนการยืนเปลือยเปล่าต่อหน้าพระเจ้า จึงมิใช่เรื่องลามก

หากเป็นเรื่อง “ลึกซึ้งละเอียดอ่อน”

ที่โน้มนำไปสู่การเคารพอย่างสูงสุดต่อพระเจ้าด้วย!

เอ๊ะ เป็นไปได้อย่างไร

 

นอกจากเรื่องเปลือยต่อหน้าพระเจ้าแล้ว

ฉัตรสุมาลย์ยังเล่าถึงรายการทีวีของชาวเดนมาร์ก

ที่จัดเวทีให้ผู้คนหลากเพศ สีผิว และอายุ มายืน “เปลือย” บนเวที

ต่อหน้าผู้ชมคือนักเรียนวัย 10-13 ปี

ภายใต้แนวคิดใหม่

ว่านี่คือ “เปลือยเพื่อการศึกษา”

ศึกษาเรื่องอะไร

ทำไมจึงหมิ่นเหม่ ฉวัดเฉวียนเช่นนั้น

 

มีการบอกวัตถุประสงค์ของรายการทีวีเพื่อเด็กนักเรียนนี้ว่า

(อย่างที่เราทราบ) สังคมในโลกโซเชียล เน้นในเรื่องร่างกายที่สวยงาม

ไม่ว่านางงามเดินประกวดบนเวที

ไม่ว่าโฆษณาอาหารเพื่อสุขภาพที่จะทำให้ผอมเรียว หุ่นดี

ไม่ว่าโฆษณาครีมบำรุงผิวให้ขาวนวล เน้นความขาว ความขาวคือความงามที่พึงใจ ครีมทาหน้าเพื่อผิวที่เต่งตึง รังเกียจผิวที่เหี่ยวย่น เน้นผิวที่เต่งตึง ฯลฯ

เด็กๆ เสพข้อมูลจากโลกโซเชียล

ถูกทำให้เชื่อโดยโฆษณาที่มาบ่อยและถี่กว่าคำสอนจากพ่อ-แม่หรือครู ว่าร่างกายควรจะเป็นอย่างไร

คับแคบ อยู่ที่ “ต้องสวย ต้องงาม” เพียงเท่านั้นหรือ

เรารู้ในเรื่องร่างกายของเรามากน้อยเพียงใด

ครูและพ่อ-แม่ พูดกับนักเรียนหรือลูกอย่างไรในเรื่องร่างกาย

เพศสภาพ

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ตลอดไปจนถึงเพศสัมพันธ์ ฯลฯ

เรื่องจริงอะไรบ้างที่ลูกเราจะต้องรับรู้

แล้วเราให้การศึกษาแก่เขาอย่างถูกต้องอย่างไร

ในหลายครอบครัว เราไม่พูดกับลูกเลย แล้วหวังว่าลูกจะรู้เอง

ลูกจึงรู้จากเพื่อนๆ ลองผิดลองถูก

รายการเปลือยนี้จึงเกิดขึ้น

 

“เปลือย” ต่อหน้านักเรียน มีวิธีการอะไร และนำไปสู่เป้าหมายอย่างไร

คงต้องติดตามอ่านในคอลัมน์ธรรมลีลา ของฉัตรสุมาลย์

แน่นอน มิได้หมายความว่าสังคมไทยจะต้องเลียนแบบมาเป๊ะๆ

เพียงเพื่อแค่โชว์ว่า เราใหม่ เราหัวทันสมัย

คนรุ่นใหม่ต้องเป็นแบบนี้

เปลือยต่อหน้านักเรียน อาจใช้ได้ หรือเหมาะสมกับสังคมชาวเดนฯ

เพราะโดยบริบทสังคมเขาอาจเป็นสังคมที่เปิดกว้าง กล้าพูด กล้าถาม กล้าลอง

ส่วนสังคมไทย อาจจะต้องปรับตัว ปรับสายตา ปรับทัศนคติ ในอีกรูปลักษณะหนึ่ง ที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย

แต่การไม่ทำอะไร นิ่งอยู่กับจารีต สุภาพเรียบร้อย

ดังผ้าพับไว้

อาจมิใช่คำตอบจากโรงเรียนอีกแล้ว

 

การแสดงออกถึงความต้องการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ตอนนี้ก็ได้ปะทุออกมาให้เห็นแล้ว

รุนแรงถึงขั้นปลดแอกโรงเรียน

อย่าเพียงตกใจ หรือหวาดกลัว

ว่านักเรียนเหล่านั้น ไม่น่ารัก

ลอง “เปลือยจิตใจ” เปิดรับสิ่งใหม่-ใหม่ ด้วยใจร่าเริงดูบ้างก็ไม่เสียหายอะไร