ขอแสดงความนับถือ : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 เม.ย.- 4 พ.ค. 2560

ถามไถ่ถึง “สงกรานต์ บ้านป่าอักษร” ไปเมื่อช่วงสงกรานต์

ไม่กี่เพลา

อี-เมลน้อยก็มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

ทักทาย และมีเรื่องเล่าสู่กันฟัง

 

สงกรานต์ปีใหม่นอกจากเป็นเทศกาลแห่งความสุข สนุกสนานของเยาวชนคนหนุ่มสาวแล้ว

ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ปริ่มเปรมใจปรีดีมีความสุข

เมื่อลูกหลานต่างพร้อมเพรียงเรียงหน้ากันนำเครื่องสักการบูชามาขอพร รดน้ำดำหัว-ขอให้ท่านมีอายุมั่นยืนยาว อยู่เป็นมิ่งขวัญพลังใจลูกหลานไปนานๆ

ซึ่งผู้อาวุโสนั้นเมื่ออยู่นานๆ ไปก็จะมีลูกหลานเพิ่มมากขึ้นจนจำไม่หวาดไหว

ขณะเดียวกันก็ห่อเหี่ยวใจกับการจากไปของเพื่อนร่วมยุคสมัยทีละคนสองคน

อย่างอาวของผมนี่ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่นหลงเหลืออยู่เลยสักคน (เป็นหนึ่งเดียวในหมู่บ้านที่อยู่ยาวถึง 95 ปี)

“เก้าสิบห้าปีที่น่าทึ่ง” เพราะลูกหลานไม่ต้องดูแลมาก

ยังเดินเหินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า (เกาะราว) ขึ้นบันได 7-8 ขั้น ฉับ ฉับ…ชิลชิล

กินเหล้าได้พอเป็นกระสาย

นั่งพับเพียบให้พรไม่ติดขัด เป็นแรงบันดาลใจให้อาวและอา…คลื่นลูกหลังควบอายุอานามไล่ตามมาด้วยวัย 90, 89, 88, 85 ปี

ซึ่งทั้งสี่ท่านยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ลำบาก

(ทางบ้านผมจะเรียกผู้สูงวัยแบบแยกเพศ ระดับน้า-อาผู้ชายเรียก “อาว” หากเป็นน้า-อาผู้หญิงเรียก “อา” แต่ระดับปู่ ย่า ตา ยายนี่เรียก “อุ๊ย” สถานเดียว …พวกหลานๆ “ปากบอน” มักชื่นชมว่า “หนังเหนียว” อายุวัฒนะ)

…เรื่องราวที่บรรดาละอ่อน-ลูกหลานถามซ้ำๆ อย่างอัศจรรย์ใจใน “ปี๋ใหม่เมือง” ที่ผ่านมาคืออุ๊ยชอบกินอะไร อยู่อย่างไร นอนอย่างไร

อุ๊ยก็จะตอบแบบเรียบๆ ไม่ขัดเขินเพราะเป็นคำถามเดิมๆ ที่ผู้คนถามมากว่าสิบ-ยี่สิบปีแล้ว ทว่า ยังคงเปี่ยมอรรถรสในการพูดคุยถึงน้ำพริกผักนึ่ง เข้านึ่ง-แก๋งผัก แกงปลา

การกินน้อย นอนน้อย อดทน อดออม อยู่ที่โล่งโปร่งสบาย เย็บปักถักสาน เลี้ยงหลาน ฟังเพลง-วิทยุ และเล่าความหลังครั้งบุกเบิกแผ้วถางสร้างทางชีวิตนักสู้ลูกแม่น้ำว้า-น้ำน่าน

…ลูกหลานเมื่อได้สดับตรับฟังก็แล้วแต่ว่าใครจะนำไปพิจารณาถึงคุณค่าควรดำรงตามแบบอย่างการกินการอยู่ (ยาว) อย่างพอดี มีสติ-เมตตา ไม่โลภโมโทสัน ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม

อันเป็นอานิสงส์ผลบุญให้อายุมั่น “อยู่ยาว” มีความสุขอย่างพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ปู่ ย่า ตา ยายครับ…

ด้วยความเคารพและนับถือ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

พูดถึง อาว หรือถ้าคุ้นๆ ในหนังสือ ประโลมโลกย์ สมัยเดิมๆ จะเป็น “อาว์”

มักจะไพล่ไปนึกถึง “ป๋า”

อันเป็นคำที่ไม่ได้สะท้อนถึงความชราสักเท่าไหร่

เป็นอาว์ขาา… หรือป๋าขาา…เสียมากกว่า

คงเพราะอาว์เป็นคำที่หมายถึง อา ที่เป็นชาย

เวลาต้องการสื่อถึงชายเจ้าชู้–อา จึงกลายเป็นอาว หรืออาว์ อย่างที่ว่า

 

พูดถึงอาว หรืออาว์ ขึ้นมาก็เพื่อให้ ส.ว. ทั้งหลาย กระชุ่มกระชวย

ในความเป็นจริง คงจะหาคนอายุ 85, 88, 89, 90, 95 ที่ชิลชิลได้ไม่มากนัก

ยิ่งสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมวัยชรา ที่มีหมายเหตุพ่วงท้ายด้วยว่า “ในภาวะที่สังคมยังไม่พร้อม”

ทำให้สวัสดิภาพ สวัสดิการของผู้สูงวัย น่าเป็นห่วง

เราคงหวังจะได้รับการดูแลที่ดีๆ จากรัฐ คงยาก

ได้แต่พึ่งพาตัวเอง ลูกหลาน ซึ่งหลายครอบครัวก็ไม่พร้อมที่จะแบก

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด อา อาว์ อุ๊ย ทั้งหลาย คงต้องพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้

เพื่อไม่เป็นภาระให้คนอื่นมากนัก

 

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ จึงมีรายงานพิเศษ เพื่อผู้สูงวัย อยู่ 2 เรื่อง

เรื่องหนึ่งคือ “เรื่องของหัวใจ” ที่ “ทรงสมัย ศรีชลภูมิ” นำประสบการณ์เฉียดไปสวรรค์ มาเล่าสู่กันฟัง อย่างน่าระทึก

กล่าวสำหรับ “ทรงสมัย ศรีชลภูมิ” แล้วไม่ใช่คนแปลกหน้าของ “มติชนสุดสัปดาห์”

เธอมีคอลัมน์อยู่ในนี้นี่แหละ เพียงแต่ใช้นามปากกาอื่น

คนที่ชื่นชอบ “ดอกไม้” น่าจะคุ้นๆ กับเธอ

ขณะเดียวกัน นพ.ปรีชา ศตวรรษธำรง รองประธานมูลนิธิ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา มาเขียน “มหันตภัยเงียบ จากหลอดเลือดตีบตัน” ให้อ่าน

เป็นสิ่งที่น่ารู้ และสามารถปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้

จะได้มีชีวิตชิลชิลเหมือน “อาว” ของ สงกรานต์ บ้านป่าอักษร