ขอแสดงความนับถือ : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21-27 เมษายน 2560

กล้า สมุทวณิช เขียนในคอลัมน์ คนตกสี ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง เรื่อง “วรรณกรรมซึ่งจ้องตาชี้หน้าอธรรม” (มติชนรายวัน 5 เมษายน 2560)

ไว้อย่างดีเยี่ยม

ดีเยี่ยมทั้งเรื่อง “มติชนอวอร์ด 2559”

และดีเยี่ยมทั้งเรื่อง “วรรณกรรมซึ่งจ้องตาชี้หน้าอธรรม”

อยากจะยกทั้งเรื่องมาลงซ้ำอีกครั้ง

แต่ด้วยข้อจำกัดในพื้นที่

จึงยกบางท่อนมาให้อ่าน

 

เกี่ยวกับ “มติชนอวอร์ด 2559”

กล้า สมุทวณิช บอกว่า เรื่องสั้นทั่วไปที่ได้รางวัลชนะเลิศ “ตายแล้วตายอีก” โดย ชิตะวา มุนินโท

โดดเด่นยิ่งในแง่ของการใช้ภาษา เสียดเย้ยอย่างลื่นไหล สนุกมือ เพื่อยั่วแย้ง

ตั้งคำถามกับสังคมพุทธแบบไทยๆ อย่างไม่ยำเกรง

ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและในเชิงความประพฤติส่วนตัวของพระภิกษุสมมุติสงฆ์แบบไทยๆ ตลอดจนลำดับชั้นในสังคมเด็ก ผู้ใหญ่ และบรรพชิต

ทั้งหมดเป็นภาพสะท้อนสังคมที่ “ศาสนาพุทธ” เป็นใหญ่ครอบงำสังคมของไทยได้ด้วยภาษาและรูปแบบ

การเล่าเรื่องที่อ่านแล้วสนุกจดจ่อแทบลืมหายใจ อย่างลงตัวและน่าประทับใจตั้งแต่ต้นจนจบ

 

ส่วนรองชนะเลิศ “ปราสาทใยแมงมุม” โดย องอาจ หาญชนะวงศ์ และรางวัลชมเชย “ปรารถนา” โดย มีเกียรติ แซ่จิว ก็เป็นเรื่องสั้นที่เขียนได้ดีและน่าประทับใจไม่แพ้กัน

สำหรับการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ รางวัลชนะเลิศได้แก่ “การตัดสินใจของปัญญาประดิษฐ์” โดย ปิยะโชค ถาวรมาศ

ที่เล่าเรื่องของการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อปกป้องมนุษย์

แต่การตัดสินใจของมันเมื่อเวลานั้นมาถึงจริงจะเป็นอย่างไรก็เป็นประเด็นที่น่าใคร่ครวญ

ส่วนรองชนะเลิศประเภทนี้ได้แก่เรื่อง “นิพพานจักร” โดย วิวรรธน์ชัย และรางวัลชมเชย “พันธุกรรมมรณะ” โดย วิสันต์ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

เช่นเดียวกับรางวัลชนะเลิศประเภทบทกวี “ฮิปโปตัวเมียในกล่องบรรจุความทรงจำ” โดย ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ รองชนะเลิศได้แก่ “เท่านี้ก็พอ” โดย นาโก๊ะลี และรางวัลชมเชย “เสียงร้องของบุหลง” โดย เต ทินฺโนวาเท

(มติชนสุดสัปดาห์จะทยอยตีพิมพ์เรื่องที่ได้รางวัลตั้งแต่ฉบับนี้)

ส่วน “วรรณกรรมซึ่งจ้องตาชี้หน้าอธรรม”

กล้า สมุทวณิช ปูเรื่องมาตั้งแต่การที่เวทีของเรื่องสั้นและบทกวีในสิ่งตีพิมพ์ กำลังหดเล็กลงเรื่อยๆ

เพราะการปิดตัวลงของนิตยสารหลายต่อหลายฉบับที่เคยเป็นพื้นที่สำหรับงานวรรณกรรม

รางวัลมติชนอวอร์ดจึงประกาศเว้นวรรคการจัดประกวดไปสักระยะ

เพื่อให้พื้นที่หน้ากระดาษของมติชนสุดสัปดาห์นั้น “ว่าง” สำหรับให้บรรดานักเขียนเรื่องสั้นและบทกวีส่งผลงานมาบรรเลงให้วงการครื้นเครงไม่เงียบเหงาเกินไป

หากกล่าวกันอย่างยอมรับความจริง

งาน “วรรณกรรม” ประเภทที่เขียนเพื่อบูชาความงดงามของภาษาและศิลปะ

หรือมีเจตนารมณ์เพื่อสะท้อนปัญหาสังคมการเมืองนั้นอยู่ในสภาพเหมือน “สัตว์ป่าคุ้มครอง”

ด้วยจำนวนที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ จากสิ่งแวดล้อม คือความหลากหลายทางการอ่าน

กระทั่งกลายเป็นดั่ง “สัตว์หายาก”

 

อย่างไรก็ตาม กล้า สมุทวณิช ตั้งคำถามว่า

“…แต่ทำไมเรายังต้องเขียนต้องอ่านงาน “วรรณกรรม” กันอยู่

และผู้คนส่วนหนึ่งต้องเอาใจช่วยคุ้มครองเฝ้าระวังและประคับประคองไม่ให้งานเขียนประเภทนี้สาบสูญไปจากบรรณพิภพเล่า

อาจเพราะเป็นอย่างที่ อุทิศ เหมะมูล เขียนไว้ในหนังสือ “จักรวาลในหนึ่งย่อหน้า” ว่า

การอ่านไม่ใช่การหลีกหนีจากความเป็นจริงของบ้านเมืองอีกต่อไป

แต่คือการจ้องตากับเผด็จการบ้านเมืองด้วยสิ่งที่เราอ่าน

ฟังดูยิ่งใหญ่โหมเร้าอารมณ์อุดมการณ์จนน่าสงสัยว่าความคิดแบบนี้ยังเป็นจริงอยู่หรือไม่

แต่จากหลักฐานพยานที่พอจะยืนยันได้ คือการที่หนังสือบางเล่มยังคงเป็น “สัญลักษณ์” ของการต่อต้านหรือแสดงความหวาดระแวงต่ออำนาจรัฐ

เช่น นวนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล ซึ่งกลับมาเป็นหนังสือขายดีเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

เป็นการแสดงออกว่าผู้คนใช้การอ่านหนังสือเป็นเครื่องทบทวนเพื่อรู้เท่าทันต่ออำนาจของบรรดา “พี่เบิ้ม” ทั้งหลายผู้ยึดกุมอำนาจรัฐผ่านวรรณกรรมขึ้นหิ้งของโลก

หากจะกล่าวว่า “การอ่าน” นั้นคือการ “จ้องตา” กับเผด็จการด้วยความตื่นรู้

“การเขียน” ก็อาจเปรียบได้กับการ “ชี้หน้า” สิ่งอันไม่ชอบธรรมในสังคม

หรือชี้บอกสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในมุมลับมุมหลืบทั้งหลายในบ้านเมืองด้วยมือที่ถือปากกา หรือนิ้วที่ร่ายพรมลงไปบนแป้นพิมพ์…”

 

กล้า สมุทวณิช เชื่อมั่นว่างานวรรณกรรมสร้างสรรค์ “สัตว์หายาก” จะยังไม่สูญพันธุ์ง่ายๆ

สัญญาณชีพของมันแม้จะเบาแผ่วลงในบางจังหวะ

แต่ไม่เคยสักครั้งที่หยุดนิ่งเงียบงัน

พลิกไปอ่าน กวีนิพนธ์ รางวัลชนะเลิศ ของ ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์

“ฮิปโปตัวเมียในกล่องบรรจุความทรงจำ”

แม้จะเปลือยเปล่า ด้วยไร้ฉันทลักษณ์

แต่ ฮิปโปตัวเมีย (สัตว์ป่าหายาก) กลับ เย้ยหยัน ลุ่มลึก

ด้วยหนังสือ 1984 …