ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 13-19 มีนาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

ขอลดธงครึ่งเสา ไว้อาลัยการจากไป

“หมอทรัพย์ สวนพูล” หรือ “หลวงเมือง” หรือ “สำราญ ทรัพย์นิรันดร์”

นักเขียน-โหราจารย์อาวุโส ที่เป็นดั่งญาติผู้ใหญ่ของ “มติชนสุดสัปดาห์”

ขออนุญาตเขียนถึงท่านเป็นการเฉพาะ พร้อมต้นฉบับ “ชุดสุดท้าย” ในสัปดาห์หน้า

 

ส่วนสัปดาห์นี้ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เข้มข้น

“มติชนสุดสัปดาห์” จึงต้องเข้มข้นไปด้วย

ขอหยิบบางเรื่องยั่วน้ำลาย

 

วิรัตน์ แสงทองคำ โฟกัสไปที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือซีพี

ที่ประกาศทุ่ม 100 ล้านบาท

สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี ช่วยกรณี COVID-19 ภายใน 5 อาทิตย์

หวังตั้งใจช่วยสังคม

แม้ก่อนหน้านี้

จะมีข่าว “เครือซีพี บริจาค 200 ล้าน ช่วยรัฐบาลจีนรับมือไวรัสอู่ฮั่น” มาก่อน

นำไปสู่คำวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยต่อซีพีพอสมควร

จนเจ้าสัวซีพีต้องมาเคลื่อนไหวเรื่องหน้ากาก

ซึ่งวิรัตน์ แสงทองคำ ชวนข้ามด้านลบ มองด้านบวก

โดยชี้ว่า นี่เป็นโมเดลน่าสนใจ

นั่นคือ ซีพีกำลังจะเข้าสู่บทบาท “แบบอย่าง” ในฐานะผู้นำในการแก้ปัญหาวิกฤตสังคมในวงกว้าง หรือไม่

สอดคล้องกับผู้นำธุรกิจโลกอื่นๆ ที่ล้วนมีปฏิกิริยาอย่างสร้างสรรค์ ต่อวิกฤตไวรัสโควิด-19

“ผมค่อนข้างเชื่อว่า กรณีดังกล่าว จะเป็นโมเมนตัมมีพลัง สร้างแรงกระเพื่อมต่อแวดวงสังคมธุรกิจไทยพอสมควร”

วิรัตน์ แสงทองคำ มองในแง่ดี

แม้ว่ากันว่า (ที่ผ่านมา) ผู้นำธุรกิจไทยมักลงทุนจำนวนไม่น้อยไปกับการบริหาร “สายสัมพันธ์”

คือ “จ่าย” เพื่อ “คอนเน็กชั่น” มากกว่าเงินที่ทุ่มลงไปสู่สังคม

ซึ่ง “วิรัตน์” บอกว่า “ผมไม่ใคร่จะเชื่อเช่นนั้น”

และชี้ชวนให้เราติดตามโครงการ 100 ล้าน เพื่อผลิตหน้ากาก อย่างใกล้ชิด

 

ขณะที่ “วิรัตน์ แสงทองคำ” โฟกัสไปที่เจ้าสัว

คงกฤช ไตรยวงค์ แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ใช้มุมมองปรัชญา มองไปยัง Parasite โควิด-19 และประชาธิปไตย

เน้นไปที่คนจน ขยะ สิ่งสกปรก และมีมลทิน

ผ่านทั้งสายตา ฟรังโก้ “บิโฟ” เบราร์ดี้ นักปรัชญาร่วมสมัย

ผ่านทั้งภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี Parasite ของผู้กำกับฯ บงจุนโฮ ที่ตีแผ่เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม

และตั้งคำถาม ใครกันแน่ที่เป็นปรสิต

“–แน่นอนว่า Parasite ไม่ได้วิพากษ์ทุนนิยมเท่านั้น แต่เป็นทุนนิยมดิจิตอล โลกของสมาร์ตโฟนที่มีผิวเรียบลื่น สะอาด โลกเช่นนี้เองที่กลิ่นสาบคนจนจะถูกขับเน้นยิ่งขึ้น”

เหมือนดังเช่นผีน้อย–แรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่ไปทำงานที่เกาหลีใต้ ทุนนิยมดิจิตอล ทำให้กลิ่นสาบของพวกเขาแรงขึ้น

คงกฤชตั้งข้อสังเกตแหลมคมว่า สิ่งที่ทำให้คนไทยถามถึงสามัญสำนึกของผีน้อยเหล่านี้ เบื้องแรกย่อมไม่ใช่เรื่องจริยธรรมหรือศีลธรรม

หากแต่เป็นความสกปรก

ใช่หรือไม่

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวโยงไปถึงคนดี ประชาธิปไตย อย่างสลับซับซ้อนอย่างไร

คงกฤช ไตรยวงค์ ชวนให้คิด ผ่านมุมมองปรัชญา

 

คิดแล้วเราจะ “ตาสว่าง”

อย่างนิยายภาพที่นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชี้ชวนให้อ่านผ่านคอลัมน์การ์ตูนที่รัก ของคุณหมอ

หรือไม่

และเราจะ “ลงถนน”

อย่างที่ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ท้าทาย ว่ามิใช่เรื่องต้องกลัว-กังวล เหมือนที่บางฝ่าย “ชวนเชื่อ” ไว้

“…เรามักมองการ ‘ลงถนน’ เป็นความไม่ปรกติของการเมือง

แต่ผมอยากเสนอว่าการ ‘ลงถนน’ เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเสมอ

ไม่ว่าในระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบอื่น”

นี่คือความเข้มข้นที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท้าทายไว้

ลงถนน!?!