ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 6-12 มีนาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

ดูหนังเก่า (2016) Bridget Jones’s Baby ที่เวียนฉายทางทรูวิชั่นส์

เป็นภาคที่สาม จากหนังสือดัง “Bridget Jones’s Diary”

บริดเจ็ท โจนส์ สู่วัย 43 กำลังจะมีเบบี๋

แต่มีเรื่องวุ่น-วุ่น เมื่อเธอไม่รู้ว่าใครคือพ่อของลูก

เพราะไปมีกุ๊กกิ๊กกับหนุ่มๆ 2 คนในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

ปฏิบัติการหาพ่อตัวจริงจึงเริ่มต้นขึ้น

 

เห็นด้วย

กับคนที่ริวิวหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนัง “รอมคอม” (romcom) โรแมนติก+คอเมดี้ Romantic-Comedy

เกี่ยวข้องกับความรัก ไม่เครียด ดูสบายๆ มีมุขตลกขำขันแทรกอยู่เป็นระยะ แต่ไม่ใช่หนังตลกโดยสิ้นเชิง

ทั้งที่ว่าไป การท้องโดยไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อนั้น

ในชีวิตจริง เป็นเรื่องซีเรียสมากทีเดียว

และคนที่จะถูกก่นประณาม อย่างป่นบี้ว่าสำส่อน

ก็คือ ฝ่ายหญิงนั่นเอง

 

แต่คนเขียนบท หรืออาจจะรวมถึงสังคมตะวันตก ดูจะคลี่คลายกับประเด็นท้องไม่มีพ่อ หรือประเด็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวไปมาก

บริดเจ็ท โจนส์ แทนที่จะก้มหัว ซุ่มซ่อน แต่กลับเป็นฝ่ายรุก หรือผู้กำหนดเกม

ผู้ชายต่างหากที่จะต้องวิ่งมาพิสูจน์ว่า เขาควรถูกเลือกเป็นพ่อของเด็กในท้อง

ขณะที่ตัวละครรอบข้าง ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาเชิงลบกับการท้องไม่รู้พ่อของฝ่ายหญิง

หากแต่มีทัศนะเปิดกว้าง ให้โอกาส

และพร้อมจะร่วมมือกับผู้หญิงในการเป็นผู้กำหนดเกม ไม่ว่าเพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งหมอรับฝากครรภ์

ดังนั้น ถึงจะเป็นหนังรอมคอม ที่เรียกเสียงหัวเราะเป็นระยะ

แต่ในเสียงหัวเราะนั้น แฝงด้วยการเคารพสิทธิสตรีอย่างเต็ม-เต็ม

เชิดหน้าใส่ การท้องโดยไม่มีพ่อ อย่างอาจหาญ

 

ประเด็นการท้อง หากพลิกไปที่หน้า 30-31

จะพบรายงานพิเศษ “สัมมนา (เพศสถานะ) อุษาคเนย์ โจรสลัด (หญิง)-สาว (ใช้) พม่า-ภาษา-ความเป็นแม่ และลัทธิชาตินิยม” โดย อาทิตยา อาษา

ที่นำเนื้อหาการสัมมนาในหัวข้อเดียวกัน มานำเสนอ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนื้อหาส่วนหนึ่ง มีการพูดถึงแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการท้องของผู้หญิง มาให้พิจารณาด้วย

อ่านแล้วชวนเปิดใจกว้างๆ

เพราะแรงกว่าท้องไม่มีพ่อ ของ Bridget Jones มากนัก

 

ทั้งนี้ วัจนา เสริมสาธาณสวัสดิ์ อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้นำเสนอแนวคิดการเป็นแม่ ผ่านมุมมอง Luce Irigaray นักปรัชญาสตรีนิยมฝรั่งเศส

ซึ่งพูดถึงร่างกายของแม่

ที่แตกต่างจากชาย คือผู้หญิงมีมดลูก

จึงถูกกำหนดกรอบ

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเป็นผู้หญิง คุณ [ก็มีหน้าที่] เป็นแม่

“การผูกติดผู้หญิงกับการเป็นแม่ ทำให้ตัวตนของผู้หญิงสูญหาย และทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุ”

“เมื่อผู้หญิงเป็นแม่ ทำให้พวกเธอถูกคาดหวังจากสังคมที่มากเกินกว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะทำได้”

“คือถูกคาดหวังให้เป็นแม่แบบที่ควรจะเป็น โดยไม่สามารถเป็นแม่ในแบบอื่น”

ซึ่งในมุมมองของ Irigaray แล้วไม่ควรเป็นเช่นนั้น

มีการเสนอว่า ผู้หญิงควรจะทลายกรอบนั้นลง

แยกตัวตนของตนเองออกจากความเป็นแม่เสีย

แรงสส์ และก้าวหน้าไหม!?!

 

ที่”มติชนสุดสัปดาห์” นำเรื่องเหล่านี้มานำเสนอ

นอกจากในวาระ 8 มีนาคม วันสตรีสากล แล้ว

เชื่อว่า ประเด็นดังกล่าว คงมีความเห็นต่าง ซึ่งควรจะถกเถียงกันให้กว้างขวาง

อย่าเพิ่งกู่ประณาม

ทั้งการท้องไม่มีพ่อ

หรือการเรียกร้องผู้หญิงแยกตัวออกจากความเป็นแม่

การได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันอย่างเสรี มีแต่การผลิบาน

มิใช่การชังหญิง

หรือชังชาติ–เอ๊ะมาได้ยังไงละนี่ (ฮา)