ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 17-23 มกราคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

หลังปรากฏการณ์ “วิ่งไล่ลุง” และ “เดินเชียร์ลุง”

มีความห่วงใย โดยเฉพาะการมุ่งชี้นิ้วไปยังฝ่าย “วิ่งไล่ลุง” ว่า กำลังจะนำพา “มวลชนลงถนน” อีกครั้ง

แน่นอน อาจจะมีผู้ที่ห่วงใยจริงๆ

คือ ไม่อยากให้มีความรุนแรงขึ้นอีกกับสังคมไทย

จึงออกมาเตือน

ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นเหตุผลของ “บางฝ่าย” เช่นกันที่มุ่งจะดิสเครดิตฝ่ายวิ่งไล่ลุง ให้ขาดความชอบธรรม

ด้วยการยกเหตุผลว่า ตอนนี้รัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้งแล้ว

จะมากล่าวหาว่าเป็นเผด็จการได้อย่างไร

การนำมวลชนลงถนน จึงเป็นเพียงการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

เพราะกลัวถูกยุบพรรค หรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองมากกว่า

 

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นำเสนอบทความว่าด้วย

“เผด็จการซ่อนรูปที่สั่นคลอน”

ด้านหนึ่ง จะช่วยอธิบายฝ่ายที่พยายามชูว่า รัฐบาลขณะนี้มาจากเลือกตั้ง จะหาว่าเป็นเผด็จการได้อย่างไร

โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ว่า

เผด็จการสามารถซ่อนรูปในประชาธิปไตยได้ระดับหนึ่ง

ด้วยการผนวกเอาการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในความชอบธรรมของตน

เพราะการเลือกตั้งอาจถูก “จัดการ” ได้ในระดับสูง

(ผ่านองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มือของเผด็จการไม่เปื้อน)

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่เผด็จการร่างเอาไว้ ก็ยังสามารถ “จัดการ” ให้ผลการเลือกตั้งไม่ใช่ปัจจัยตัดสินเด็ดขาดทางการเมือง

(เช่น ให้ ส.ว.แต่งตั้งมีอำนาจเลือกนายกฯ, หรือให้อำนาจปลดรัฐบาลไว้กับองค์กรอิสระอื่นๆ จนถึงที่สุดกองทัพก็ยังยึดอำนาจได้ง่าย)

การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงพิธีกรรมที่แทบจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

ซึ่งคงช่วยตอบคำถามว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เป็นเผด็จการได้อย่างไร

 

กระนั้น แม้นิธิ เอียวศรีวงศ์ จะเปิดโปง และรู้ทันเผด็จการซ่อนรูป

แต่ก็ได้เตือนด้วยว่า

วัฒนธรรมของเผด็จการได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเช่นกัน

นอกจากซ่อนรูปประชาธิปไตย สลับซับซ้อนมากขึ้นแล้ว

ยังสามารถเอื้อต่อผลประโยชน์ของมวลชนระดับกลางและบนไปพร้อมกับผลประโยชน์ของพรรคพวกบริวารของตนเองด้วย

และยังอิงอาศัยความชอบธรรมตามประเพณีซึ่งก็ถูกคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันด้วย จึงพร้อมจะร่วมมือกับเผด็จการซ่อนรูป

ด้วยเหตุดังนั้น เผด็จการจึงไม่ “ตาย” ง่ายๆ

เพราะเหตุนี้ วัฒนธรรมของการต่อต้านเผด็จการ

จึงต้องเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงตามไปด้วย

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เตือนฝ่ายต่อต้านเผด็จการว่า ตอนนี้อาจหมดยุคการ “ลงถนน” โดยพร้อมเพรียงเหมือนครั้ง 14 ตุลา, พฤษภา 35, แบบกรีก, หรือปฏิวัติดอกคาร์เนชั่นเสียแล้ว

หรือหมดสมัยของการ “ปักหลัก” ประท้วงจนกว่าจะได้ชัยชนะ

และในขณะเดียวกันก็หมดสมัยของพรรคมวลชนที่สามารถกุมเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดจากการเลือกตั้ง

เพราะการเลือกตั้งภายใต้เผด็จการซ่อนรูปป้องกันมิให้เกิดชัยชนะเช่นนั้นขึ้นได้

ทั้งโดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญและโดยอาญาสิทธิ์ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง

การ “ลงถนน” อย่างแข็งทื่อ และไม่ปรับตัว

นอกจากเสี่ยงเจ็บ-ตายเป็นเบือแล้ว ถึงชนะก็เปลี่ยนประเทศไปไม่ได้มากนัก

ในที่สุดทุกอย่างก็กลับมาเกือบเหมือนสภาพเดิมก่อนชนะ คนกลุ่มเดิมก็ยังคงควบคุมการเมืองได้เด็ดขาดเหมือนเดิม

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ จึงเรียกร้องการประท้วงลักษณะใหม่

ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ ใช้สื่อโซเชียล ใช้แอพพลิเคชั่นอื่นๆ เข้ามาผสมผสานกับการเคลื่อนไหว

เป็นไปในรูปแบบใด ลองพิจารณาข้อเสนอของ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ที่หน้า 30

จะทำให้ “เผด็จการซ่อนรูป” สั่นคลอนได้จริงหรือไม่ ต้องติดตาม