ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 24 มิ.ย. 59

AFP PHOTO / POOL / DAMIR SAGOLJ

ไม่ว่าจะมองประชาธิปไตย 84 ปี ด้วยอารมณ์ขัน

เป็นภาพ แมว “เก้าแต้ม” ชะเง้อแง้ปลาทูที่เหลือแต่หัว และก้าง

อย่างที่ “ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) มอง

หรือ มองอย่างซีเรียส ผ่านสายตา นักวิชาการ สุรชาติ บำรุงสุข และ เกษียร เตชะพีระ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” นี้

ต่างน่าสนใจยิ่ง

 

สุรชาติ บำรุงสุข นำเสนอยุทธบทความ “อุดมการณ์อนุรักษนิยมไทย : เสนานิยมและชาตินิยมในการทูตไทย”

โดยเป็นการมอง “พัฒนาการของรัฐบาลทหารไทย”

ที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญ

ในอดีต รัฐบาลทหารของไทย มักหลีกเลี่ยงการมีปัญหาการทูตกับรัฐบาลต่างประเทศ

โดยเฉพาะรัฐบาลมหาอำนาจตะวันตก

ยิ่งในยุคของการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

ความกลัวในทางการเมืองไม่ใช่กลัวถูกครอบงำ โดยเฉพาะจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐ

แต่กลัวว่า สหรัฐจะทิ้งไทยให้คอมมิวนิสต์ยึด

 

อย่างไรก็ตาม สุรชาติ บำรุงสุข ตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีของรัฐบาลทหาร เปลี่ยนแปลงไปหลังรัฐประหาร 2557

เมื่อหันไปใน “ต่อต้านตะวันตก” ค่อนข้างมาก

อาจด้วยเพราะ “กระแสโลกาภิวัตน์” พัดพาเอากระแสประชาธิปไตย กระแสเศรษฐกิจเสรี และกระแสสิทธิมนุษยชน เข้ามา

ตัวชี้วัดถึงสถานะของประเทศ กลายเป็นประเด็นการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน

ซึ่งสวนทางกับชุดความคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมและรัฐบาลทหารไทยขณะนี้ เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อรวมเข้ากับความ “หงุดหงิด” ที่บรรดาคนเหล่านี้มีกับโลกตะวันตกที่ไม่ยอมรับการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ ในปี 2557

กระแสชาตินิยมไทยจึงถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

สุรชาติ บำรุงสุข จึง ตั้งคำถามสำคัญกับอนาคตการเมืองไทยก็คือ กระแสชาตินิยมขวาจัดในยุครัฐบาลทหาร คสช. ชุดนี้จะจบลงแบบใด…

เพราะบรรดาชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และชนชั้นกลาง ตลอดจนผู้เข้าร่วมขบวนชุดนี้ “ประดักประเดิด” ยิ่ง

ไม่ว่าเขาจะต่อต้านตะวันตกเพียงใด

แต่ชีวิตที่เป็นจริงของพวกเขาก็ยังอยู่กับโลกตะวันตกอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ต้องยอม “รัก” ยูเอ็น อย่างปกมติชนสุดสัปดาห์บอก

 

ขณะที่ เกษียร เตชะพีระ ใช้คอลัมน์ การเมืองวัฒนธรรม “มองร่างรัฐธรรมนูญมีชัยลึกๆ”

แล้วพบว่ามีการตัดทอนหลักประชาธิปไตยยอดนิยม “โดยประชาชน” (by the people) ออกไป

เหลือเพียง “เพื่อ (ประโยชน์ของ) ประชาชน” (for the people) เท่านั้น

ดังนั้น ประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงไม่ควรให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง

ปกครอง “โดยคนอื่นก็ได้”

ซึ่งก็สอดคล้องลงตัวกันพอดีกับแนวคิดของพระสงฆ์องค์เจ้า, นักร่างรัฐธรรมนูญ, เทคโนแครต, ผู้นำทหาร-การเมือง ที่เห็นว่า ประชาชนยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย “โดยประชาชน”

ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ที่ถูกออกแบบมาในลักษณะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน

แต่โดย “คนอื่น”

คนอื่น ซึ่งเป็นคนดีกว่า มีความรู้มากกว่า ไม่บ้าบอ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ชอบประชานิยม ไม่ขายสิทธิ์ขายเสียงอย่างประชาชน

ประชาธิปไตยมาในลักษณะไทยๆ จึงไม่ใช่โดยตัวประชาชนเอง

หากโดย “พวกท่าน”

พวกท่าน ที่ไหลมาอยู่ร่วมกัน ในปีที่ 84 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นี้