ขอแสดงความนับถือ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2560

มีเรื่อง “จิ๋ว”

และเรื่อง “ใหญ่”

มาบอกกล่าว

“จิ๋ว” คือ “จิ๋ว บางซื่อ” ที่วันนี้ “ลั้ลลา” อยู่บนสรวงสวรรค์เรียบร้อย

โดยเมื่อเย็นวันเสาร์ 7 มกราคม ณ วัดประดู่ธรรมาธิปัตย์

มีงานที่ เจ้าของงาน ให้เรียก งานปลงศพ จิ๋ว บางซื่อ หรือ แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ ที่เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 30 ธันวาคม 2559 ด้วยอาการปอดติดเชื้อ สิริอายุรวม 97 ปี

แพทย์หญิงโชติศรี เป็นนักหลายๆ นัก ทั้ง นักเขียนเรื่องสั้น นักวิจารณ์ดนตรีคลาสสิค นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และนักวิจารณ์ละครโทรทัศน์

และแฟนมติชนสุดสัปดาห์ในระยะหลัง อาจจะคุ้นเคย นักภาษา ในนามปากกา “เนือง” แห่งคอลัมน์ ยามภาษา มากกว่า “ณ เพ็ชรภูมิ”, “เนือง”, “หนูเหน็ง”, “แกลตา”

นามปากกาอันหลากหลายดังกล่าว ผลิตงานเขียนมากมาย

อาทิ บรรเลงรมย์ เล่ม 1, 2 ป่าหิมพานต์ น้ำหยดลงหิน กำศรวลพระยาศรีฯ เนื้อนาบุญแห่งชีวิต ก้นลิ้นชัก เรื่องของสัตว์ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคน สัตว์และต้นไม้ใบหญ้า ปิดกรุ ทัวร์ 4 ประเทศใน 2 สัปดาห์ เป็นต้น

 

ในงานปลงศพ มีหนังสือเล่มจิ๋ว แจกผู้มาร่วมงาน

พญ.โชติศรี ท่าราบ เขียนไว้สั้นๆ ว่า

อุทิศให้ “หก ตุลาคม สองพันห้าร้อยสิบเก้า”

6 ตุลา นั้น พอรู้อยู่ว่าเป็นวันเกิดของคุณหมอ

แต่ทำไม “เนือง” จึงอุทิศ “นายโจรหนุ่ม” ที่แปลจาก The Highwayman ของ ALFRED NOYES ให้ “หก ตุลาคม สองพันห้าร้อยสิบเก้า”

ถ้าไปถาม “เนือง” อาจจะมีเสียงหัวเราะเบาๆ กวนๆ และบอกว่า “ไม่บอก”

เหมือนอยากจะให้ไปซึมซับ “โศกนาฏกรรม” ที่ “หญิง” คนหนึ่งยอมอุทิศ “ชีวิต” ตนเองเพื่อให้ “โจร” คนรักรอดพ้นจากมือ “ทหาร” อย่างแสนเศร้า ผ่านงานแปล ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นกาพย์ยานี 11 อย่าง “นุ่มนวล” เอาเอง

ที่จริง ก็มีคำอธิบายถึงเหตุผลที่แปลเรื่องนี้เอาไว้อยู่ในหนังสืออยู่ดอก

แต่ก็ไม่มีคำตอบ ชัด-ชัด ว่าทำไมต้อง 6 ตุลาคม 2519 อยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ที่ชัด-ชัด ไม่ต้องตีความหรือคำตอบใดๆ คือ หน้าสุดท้าย ของหนังสือเล่มจิ๋ว

นั่นคือลายมือของ พญ.โชติศรี ท่าราบ ที่เขียนถึงความภูมิใจ 2 เรื่อง

เรื่องอะไรโปรดอ่านในล้อมกรอบ

 

ส่วนเรื่อง ใหญ่ ที่จะบอกกล่าว

เป็นเรื่องใหญ่ ระดับ พญา

โดยพลิกหน้า 31-32 อ่านบทความพิเศษ

“ตั้งพญาสงฆ์ ย้อนเล่าเท่าที่รู้” โดย อาจารย์กริช ภูญียามา แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แม้การลงมติแก้ไขมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เรื่องการตั้งสมเด็จพระสังฆราช จะเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์แล้ว

แต่กระนั้น ในแง่มุมวิชาการ ยังมีมุมและประเด็นที่อาจารย์กฤช เห็นต่างจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างน่าพิจารณา และน่าศึกษา

 

โดยอาจารย์กริช ได้ย้อนถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่เกิดขึ้นในอดีต

นอกเหนือจากเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเหตุผลขณะนั้นแล้ว

การเหลียวมองอดีตยังอาจทำให้เราเข้าใจปัจจุบันและอนาคตมากขึ้นด้วย

แน่นอนการเข้าใจปัจจุบันและอนาคต ในมุมมองของอาจารย์กฤช ย่อมให้มุมมองที่แตกต่างจาก สนช.

และความห่วงใยว่าอาจจะนำไปสู่ปัญหาใหม่อย่างคาดไม่ถึงได้

คาดไม่ถึงอย่างไร เปิดใจกว้าง ให้กับงานวิชาการ ชิ้นนี้