ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
แม้การรัฐประหารในตุรกี จะประสบความล้มเหลว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นดังประตูระหว่างเอเชียและยุโรป ดินแดนกำลังพัฒนา กับ ดินแดนพัฒนาแล้ว
ได้บอกกับโลกว่า สามารถเกิดสภาวะ “สะวิง” ระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “อำนาจนิยม” ได้ตลอดเวลา
ดังที่ไทย ย้อนกลับไปสู่ อำนาจนิยม ในปี 2557
ขณะที่ ตุรกี ล้มเหลว แต่สร้างผลสะเทือนต่อโลก
ความเชื่อว่า “การปฏิวัติประชาธิปไตยของโลก” (global democratic revolution) หลังสงครามเย็น จะเป็นสิ่ง “มั่นคง” อาจไม่ใช่เสียแล้ว
หากพลิกไปอ่าน “ยุทธบทความ” ของ สุรชาติ บำรุงสุข ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ในฉบับนี้
“แซมมวล ฮันติงตัน” เจ้าแห่งทฤษฎี Democracy”s Third Wave แม้จะมั่นคงกับแนวคิดการปฏิวัติประชาธิปไตยของโลก
แต่ได้เตือนล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่า
“คลื่นลูกที่สามหรือการปฏิวัติประชาธิปไตยของโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จะไม่ดำรงอยู่ได้ตลอดไป คลื่นลูกนี้อาจจะตามมาด้วยคลื่นของอำนาจนิยม ที่บ่งบอกถึงการตีกลับของคลื่นลูกที่สาม”
ยิ่งในยามที่ กระแส “ขวาจัด” กำลังโหมแรงในหลายประเทศ เช่นนี้
การปฏิวัติ-รัฐประหาร ยังไม่ตาย!!
สุรชาติ บำรุงสุข ตั้งข้อสังเกตว่า
แม้ระบอบการปกครองของรัฐบาลทหาร จะลดบทบาท และ “อ่อนตัว” ลงหลังการพังทลายของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์”
แต่รัฐราชการอำนาจนิยม (ในบางประเทศ) ก็ยังพยายามเสนอขาย “ผลิตภัณฑ์ทางการเมือง” ชิ้นใหม่ เพื่อดำรงความสำคัญของตนอีกต่อไป
อันได้แก่ โครงการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ
มีความพยายามอย่างยิ่งในการนำเสนอภาพทหารในฐานะ “นักพัฒนา”
เน้นการประชาสัมพันธ์ถึงบทบาทในเชิงบวกของระบอบอำนาจนิยม
อันจะมีนัยอย่างสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลทหารมีความชอบธรรมมากขึ้น ภายใต้ความสำเร็จของมิติทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กองทัพภายใต้ระบอบราชการอำนาจนิยมจะพยายามกำหนดถึงบทบาทและภารกิจของตนใหม่
คือ แทนที่ทหารมีไว้เพื่อต่อสู้กับข้าศึกจากภายนอก
หรือหลักนิยมของการป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก
มาเป็นหลักนิยมของการป้องกันภัยคุกคามจากภายใน
หรือในทางทฤษฎี ที่ สุรชาติ บำรุงสุข เรียกว่า “หลักนิยมความมั่นคงภายใน”
กองทัพที่ถือเอาหลักนิยมเช่นนี้เป็นพื้นฐานของบทบาทและภารกิจแล้ว
กองทัพก็มักจะอ้างเป็นเหตุผลต้องเข้าไปมีบทบาททางการเมือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยมีการนิยาม “ภัยคุกคามภายใน” ให้กว้างขวาง
จนกลายเป็นการขยายบทบาทของกองทัพในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปโดยปริยาย
ดังนั้น ในสังคมใดที่กองทัพใช้หลักนิยมความมั่นคงภายในเป็นพื้นฐานแล้ว
สังคมนั้นจะเห็นการขยายบทบาททหารไปครอบคลุมมิติต่างๆ
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับ “ระบอบอำนาจนิยม” ต่อไป
“สุรชาติ บำรุงสุข” มิได้เชื่อมโยงว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่ครอบคลุมการพัฒนาประเทศทุกด้าน
นั่นคือ ตัวอย่างของ “หลักนิยมความมั่นคงภายใน” หรือไม่
แต่เชื่อว่า “ผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์” คงสามารถ “ตีความ” ในเรื่องเหล่านี้ได้
และเช่นกัน แม้ “แซมมวล ฮันติงตัน” จะเตือนว่า กระแสอำนาจนิยม อาจจะพยายามกลับมา
แต่ว่าไปแล้ว ระบอบอำนาจนิยม ก็ได้หมดพลังลง ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดในปี 1989/1990
รัฐราชการอำนาจนิยม แม้จะพยายามพลิกฟื้นกลับมา และประสบความสำเร็จ “ในการยึดอำนาจ” ในบางประเทศ
แต่ก็เหน็ดเหนื่อยเต็มทีกับการ “คืนความสุข” อย่างที่โฆษณาชวนเชื่อไว้
ขณะที่ประชาชน “ตุรกี” ได้ปฏิเสธทันควัน กับการก่อการรัฐประหาร
และออกมายืนเคียงข้างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
กระแสอำนาจนิยม กระแสขวา อาจจะดิ้นรนเพื่อ “กลับ” มาจริง
การยึดอำนาจ-รัฐประหารแม้อาจจะไม่ตายจริง
แต่กระแสโลกหลังสงครามเย็น ก็เดินไป “ไกล” แล้วในทิศทางที่เป็นเสรีนิยม
กระแสประชาธิปไตยพัดไปในทั่วทุกพื้นที่ของโลก
แม้ในไทย จะยังถูกครอบด้วยรัฐราชการอำนาจนิยม
แต่กระแสประชาธิปไตยก็ยังพัดชอนไชเข้าสู่สังคมไทยตลอดเวลา
และกำลังจะพิสูจน์ในเบื้องต้น ว่า รัฐราชการอำนาจนิยม จะคลอนแคลน หรือ ไม่สะทกสะท้านอะไรเลย
กับผลประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม นี้