ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 9 ธ.ค. – 15 ธ.ค. 2559

แม้จะเป็นเอกสารที่ถูกส่งมายัง “มติชนสุดสัปดาห์” และสื่อมวลชนทั่วไป ทำนอง “ข่าวแจก”

แต่ในวโรกาสสำคัญ สมควรบันทึก “ข่าวสาร” นี้ไว้

ด้วยนี่จะเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่จะมีประโยชน์ ใน 10 หรือ 100 ปีข้างหน้า

 

วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559

ข้าพระพุทธเจ้า นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาแสดงความยินดีและถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พร้อมทั้งขอแสดงความยินดีต่อประชาชนชาวไทยเนื่องในวาระมหามงคลที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย

พันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับราชอาณาจักรไทยเป็นสิ่งทรงคุณค่ายิ่งสำหรับสหรัฐอเมริกา และสหรัฐอเมริกามีความปรารถนายิ่งที่จะสืบสานมิตรภาพอันยืนยงนี้ซึ่งเริ่มมานับตั้งแต่การติดต่อสื่อสารครั้งแรกระหว่างราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับประธานาธิบดี เจมส์ มอนโร ในปี พ.ศ.2361 นับจากนั้นมา มิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศได้พัฒนาสู่ความเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรที่ยังประโยชน์ยิ่งต่อประเทศทั้งสองมาตลอดร่วมสิบชั่วอายุคน

เฉกเช่นเดียวกับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระบรมชนกนาถ ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน สหรัฐอเมริกาจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสายสัมพันธ์นี้ภายใต้พระบารมีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองแห่งประชาชนของทั้งสองประเทศ

นายกลิน ที. เดวีส์

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีที่ได้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ในนามของรัฐบาลประชาชนของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาแสดงความยินดีและถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์

จีนกับไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ความเชื่อว่า “จีนไทยพี่น้องกัน” ได้ฝังรากลึกลงในจิตใจของประชาชนของทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกัน หุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ระหว่างสองประเทศก็ได้หยั่งรากลึกอย่างมั่นคง พระราชวงศ์ไทยได้ให้ความสำคัญยิ่งและแสดงบทบาทที่ขาดมิได้ ในการสร้างสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างจีน-ไทย พระราชกรณียกิจของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นที่ซาบซึ้งดีของข้าพระพุทธเจ้า

ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าจะได้ร่วมกับใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไปสู่อนาคตที่สดใส เพื่อประโยชน์และความผาสุกของประชาชนของทั้งสองประเทศ

ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง

แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

กล่าวถึง ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง แล้ว

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ มีการกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง หรือ อี่-ไต้-อี่-ลู่ หรือ One Belt, One Road ของเขา

อี่-ไต้-อี่-ลู่ หมายถึงการสร้างความเชื่อมโยงตามแนวเส้นทางสายไหม เชื่อมโยงเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เข้ากับเอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ตอนเหนือของทวีปแอฟริกา และไปสิ้นสุดเส้นทางที่ทวีปยุโรป

สื่อของจีน ประโคมข่าวและยกย่องแนวคิดนี้ว่า ยอดเยี่ยม ประดุจ “มหายุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลก”

ยอดเยี่ยม จนลืมไปว่า อี่-ไต้-อี่-ลู่ มีอีกด้านที่ถูกมอง

นั่นคือความทะเยอทะยานของจีน ที่อยากบงการโลกแทนสหรัฐ

หลายประเทศ รวมถึงคนไทยจำนวนไม่น้อย หวาดระแวงต่อ “เป้าหมายทางการเมือง” นี้ของจีน

 

ข้อความข้างต้น อ่านแล้ว เหมือนคำวิจารณ์ที่มาจาก “ฝ่ายอื่น” มิใช่จีน

แต่อย่าตกใจ หากบอกว่า นี่คือความเห็นของคนจีน ระดับ “ศาสตราจารย์”

เป็นศาสตราจารย์ จาง ซี เจิ้น ที่พยายาม “รู้เขา รู้เรา” ด้วยการเขียนบทความ “เหตุใดคนไทยจึงรังเกียจคนจีน” ขึ้นมา

น่ายินดีที่ รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร แห่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำมาแปลให้เราอ่าน

อ่าน มิใช่ให้รู้เพียงว่าเหตุใดคนไทยจึงรังเกียจจีน

หากแต่ต้องการให้เรียนรู้ว่า จีนเขาคิดและทำอย่างไร จึงก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ได้

เพราะเขาพร้อมวิจารณ์ตัวเองอย่างถึงกึ๋น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงตัวเอง ใช่หรือไม่