ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ปีนี้

ประธานบริษัทมติชน ขรรค์ชัย บุนปาน

กระตุ้นทุกองคาพยพในเครือ เดินหน้าแจกจ่าย “ความรัก” เต็มที่

มิใช่รักในเชิงหนุ่มสาว

หากแต่เป็น “รักการอ่าน”

จะรัก “อ่าน” ใน “แพลตฟอร์ม” ไหน ก็ได้ มือถือ แท็บเล็ต พีซี

ขอเพียงให้อ่าน

และยิ่งจะวิเศษ

หากเป็นการอ่านผ่าน “หนังสือ-สิ่งพิมพ์” ที่กำลังหายใจ “รวยริน” อยู่ตอนนี้

 

มิใช่เพียงให้นโยบาย

หากแต่ประธานบริษัทมติชนลงมือปฏิบัติเองโดยฉับพลัน

ด้วยการจูงมือ “ญาดา อรุณเวช อารัมภีร” มาที่ “มติชนสุดสัปดาห์”

พร้อมคอลัมน์ใหม่ “จ๋าจ๊ะ วรรณคดี”

ทำไมต้อง จ๋าจ๊ะ ทำไมต้อง วรรณคดี

ทุกอย่างล้วนมีที่มา

 

“จ๋า”

เป็นชื่อเล่นของ “ด๊อกเตอร์ญาดา อรุณเวช อารัมภีร”

“อรุณเวช” เพราะเธอเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของสองสถาปนิก “พลอากาศตรีระวาด และอาจารย์วิไลวรรณ อรุณเวช”

ส่วน “อารัมภีร” นั้น เพราะ “คุณเต้ย” บูรพา อารัมภีร ดึงมาเป็นลูกสะใภ้ครูแจ๋ว “สง่า อารัมภีร” “ศิลปินแห่งชาติ” ด้านดนตรี

ซึ่งเพิ่งมีอัลบั้ม “ลูกร้องเพลงพ่อ” มาแจกจ่ายแฟนเพลงของสง่า อารัมภีร เมื่อปลายปีที่แล้ว

ส่วน “วรรณคดี” นั้น เพราะด๊อกเตอร์ญาดาเป็นศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง)

ตามด้วยอักษรศาสตรมหาบัณฑิตสาขาภาษาไทย จุฬาฯ ในปี พ.ศ.2525

และอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาฯ ในปี พ.ศ.2539

เป็นอาจารย์สอนภาษาและวรรณคดีไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526

จนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 8 ภาควิชาวรรณคดีไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ก่อนขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดมาทำงานอิสระ ทั้งจัดรายการวิทยุ เขียนหนังสือ และร้องเพลงในบางโอกาส

ทั้งชีวิตของ “ด๊อกเตอร์ญาดา อรุณเวช อารัมภีร” จึงเกี่ยวพันกับภาษาไทยและวรรณคดี

นี่จึงเป็นที่มาของ “จ๋าจ๊ะ วรรณคดี”

 

พูดถึงการอ่าน หลายคนหน้าเบ้

ยิ่งเป็นวรรณคดีด้วยแล้ว บางคนถึงขนาดเหยเก

นี่เองจึงจำเป็นที่ด๊อกเตอร์ญาดา ที่แม้ตัวจริงจะเรียบร้อย แต่ต้อง “จ๋าจ๊ะ” เพื่อไม่ให้คอลัมน์ “หน้าเบื่อ เคร่งขรึม”

หากแต่อ่านแล้ว ควรเกิดความรู้สึกดีๆ หรือรักวรรณคดี

เพื่อที่จะให้วรรณคดีมีชีวิต

ไม่ใช่สิ่งที่ตายแล้วในตู้หนังสือ “ห้องสมุด”

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี ตอนแรกจึงว่าด้วย

“นมนาง”

ด้วยด๊อกเตอร์ญาดาเธอเห็นว่า “นมนาง” อยู่ในความสนใจของกวีเสมอมา

มีวรรณคดีหลายเรื่องกล่าวถึงนมผู้หญิง

โดยเทียบเคียงกับดอกบัวทำให้รู้สึกถึงรูปทรงและความนุ่มละมุนที่ใกล้เคียงกัน

อย่างเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงพรรณนาถึง “นมนาง” ไว้ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ว่า

 

นมเคร่งเต่งเต้าสอง          เคียงคู่

คือบงกชสดน้อย             เต่งตั้งดวงขาว ฯ

 

‘บงกช’ คือดอกบัว การเปรียบนมสตรีกับดอกบัว

โดยเฉพาะดอกบัวสีขาว แสดงว่านมที่ถือว่างามมีเนื้อนมสีขาวไม่ใช่ดำปิ๊ดปี๋

ทั้งยัง ‘เคร่งเต่งเต้าสอง’ คือนมตั้งและเต่งตึง

ไม่ยาวยานแบบนางทองประศรีในเรื่องขุนช้างขุนแผน

(ที่)ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า แกจับเอานมยานฟัดกระบานหัว

นี่คือ รสชาติแห่งวรรณคดี

ที่ “มติชนสุดสัปดาห์” หวังว่า ใครอ่านงานของด๊อกเตอร์ญาดาแล้ว จะรักวรรณคดียิ่งขึ้น

รักการอ่านยิ่งขึ้น