ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 7-13 ธันวาคม 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

ขณะที่รอ

พรรคการเมืองใดจะเสนอนโยบาย “การศึกษา” เข้าตาที่สุดในการเลือกตั้งที่จะมาถึงอย่างไร

อุดร ตันติสุนทร ชิงนำเสนอประเด็น

“การปฏิรูปการศึกษาของไทยกับของเขมรต่างกัน”

มาให้อ่าน ดังนี้

 

เราได้ยินคำว่า ปฏิรูปการศึกษามานานมากแล้ว

ปฏิรูปครั้งที่ 1 ตั้งแต่ปี 2542

ขณะนี้อยู่ในครั้งที่ 2

จนบัดนี้ยังไม่มีทางเข้าใจว่า จะปฏิรูปกันอย่างไร

ผมอ่านพบบทความของเพชร เหมือนพันธุ์ เขียนว่า

“…ท่านเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีเขมร บอกคนเขมรว่า

อาชีพในอนาคตของคนเขมรต้องพูดภาษาอังกฤษได้

ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น

งานก่อสร้างบ้านด้วยไม้จะหายไป เหล็กจะเข้ามาแทนที่…”

เป็นคำพูดสั้นๆ แต่ชัดเจน

สามารถนำไปปฏิบัติได้

จึงพบว่า ขณะนี้ในกรุงพนมเปญ

เด็กเขมรเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ ทุกตรอก ทุกซอย ทุกหัวมุมถนนด้วยราคาที่ไม่แพง

เคยมีคนงานก่อสร้างชาวเขมรที่เป็นวัยรุ่น เข้ามาก่อสร้างอาคารที่โรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร ชัยภูมิ

เป็นเด็กหนุ่มช่างเชื่อมอ๊อกเหล็กฝีมือขั้นเทพ

ครูที่โรงเรียนไปถามว่า ทำไมจึงมีฝีมือเยี่ยมขนาดนี้

เด็กคนงานเขมรบอกว่า ท่านนายกรัฐมนตรีฮุน เซน บอกว่า

“ต่อไปข้างหน้า งานก่อสร้างที่เอาไม้มาจากป่ามาทำบ้านจะหมดไป

ถ้าอยากก้าวหน้าในอาชีพก่อสร้าง ต้องเรียนงานโลหะ งานไฟฟ้า งานเครื่องจักรกล

เด็กเขมรจึงได้เรียนวิชางานเชื่อมเหล็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา จนมีฝีมือขั้นเทพ

คำนี้น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยลุกขึ้นมาสู้ มุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร เรียนรู้ สู้งาน ถึงขั้นมีฝีมือขั้นเทพได้เช่นกัน

และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ได้โปรดพิจารณาและให้มีข้อสรุปโดยเร็ว

อุดร ตันติสุนทร

 

นอกจากจดหมายของอุดร ตันติสุนทร ที่ให้ข้อคิดเรื่องการศึกษาแล้ว

ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

นอกจากคอลัมน์การศึกษา

และคอลัมน์ไทยมองไทย ของสมหมาย ปาริจฉัตต์

ที่ติดตามประเด็นการศึกษามาต่อเนื่องแล้ว

ยังมีอีก 3 บทความ อยากชี้ชวนให้อ่าน

 

หนึ่งคือ “หน้าไหว้หลังหลอกในการศึกษาไทย” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่ขบขันและเศร้าไปพร้อมๆ กับกระแสต่อต้านการนำโรงเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์

สองคือ “จับกระแสการศึกษานานาชาติ อนาคตประเทศไทยจากขาดดุลสู่เกินดุล” ของเทวินทร์ อินทรจำนงค์

ที่ให้ข้อมูลอันน่าแปลกใจว่า ขณะนี้คนต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศไทยมากกว่าคนไทยไปเรียนนอกแล้ว

สามคือ “ฝากงานมหาวิทยาลัยไว้กับกรรมการสภารุ่นต่อไป” ของนวพร เรืองสกุล

หลัง 30 พฤศจิกายน 2561 นวพรเข้าประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งสุดท้ายแล้วยื่นใบลาออกด้วยเหตุผล “เป็นจุดยืนส่วนตัว”

แต่มีเรื่อง “ส่วนรวม” ที่ฝากไว้ให้พิจารณา

ล้วนน่าสนใจและอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นจริงๆ เสียที!