ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 30 พ.ย.- 6 ธ.ค. 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

คงไม่ต้องเรียกว่า เป็นกฎ กติกา มารยาท อะไรกระมัง

เพียงแต่เป็นสิ่งที่รู้กันว่าควรจะจัดการอย่างไร

ในยามที่สถานการณ์นั้นมาถึง

ง่ายๆ งามๆ

 

เมื่อประมาณปี 2556 “วีระกานต์ มุสิกพงศ์” มาเขียนบทความให้ “มติชนสุดสัปดาห์”

จนเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

“วีระกานต์ มุสิกพงศ์” ตัดสินใจหวนกลับคืนสู่เวทีการเมือง

พร้อมกันนั้น ก็คืน “เวทีบทความ” กลับคืนสู่ “มติชนสุดสัปดาห์”

เช่นเดียวกับ “ปิยะบุตร แสงกนกกุล” เมื่อตัดสินใจไปสร้างพรรคอนาคตใหม่ กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์

ก็คืนเวที “นิติศาสตร์เพื่อราษฏร” ให้แก่ “มติชนสุดสัปดาห์”

จึงไม่แปลกที่บทความ “รัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใคร” ของสมชัย ศรีสุทธิยากร ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

จะเป็นบทความสุดท้ายเพื่อ “เว้นวรรค” หลังจากที่ตัดสินใจเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

และรอกรรมการบริหารพรรคตัดสินว่า สมควรจะลงสมัครรับเลือกตั้งเขตไหน หรือในระบบใด

 

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” ให้สัมภาษณ์เชิงให้คำมั่นในวันที่ไปสวมเสื้อสีฟ้า

ว่า สิ่งที่อยากผลักดันมากที่สุดคือ แก้ไขกฎหมายสูงสุด ที่ไม่อาจพัฒนาประชาธิปไตยอย่างยั่งยื่นได้

จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ผลักดันให้พรรคการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)

ทั้งนี้ บทความ “รัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใคร” ในมติชนสุดสัปดาห์

จะให้เหตุผลในทัศนะของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อย่างน่าสนใจ (อ่านรายละเอียดหน้า 32)

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วทุกรูปแบบ

ทั้งในฐานะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง

ทั้งในฐานะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนควบคุมกติกา

ปัจจุบันกำลังจะเป็นผู้เล่น คือสมาชิกพรรคการเมือง

เขาสร้างสีสันมาอย่างจัดจ้าน ระหว่างเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง และเป็นกรรมการการเลือกตั้ง

ถึงขนาดถูกปลดฟ้าผ่า ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44

ในวันนี้กลายมาเป็นผู้เล่น ผ่านพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์

ซึ่งต้องรอดูว่า จะดำรงความจัดจ้านเช่นเดิมหรือไม่

จะเป็นตัวของตัวเองอย่างที่เป็น

หรือกลืนหายเข้าไปสู่ระบบ “การเมือง”

เวลาจะทำให้เราเห็นอะไรชัดเจนขึ้น

 

อนึ่ง ร่วมรำลึกถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

วันที่ 5 ธันวาคม ที่เวียนมาถึงอีกคำรบหนึ่ง

กับ  “งดงามในความทรงจำ” ของ “จ้อ นินจา”