ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 23-29 พฤศจิกายน 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

“วาบความคิด” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ เคยเป็นคอลัมน์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ยาวนาน

กระทั่งเมื่อถึงกาละและเทศะอันเหมาะสม

“วาบ” นั้นก็หายไป

ตามกฎแห่งอนิจจลักษณะ

ที่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นบรรณาธิการแห่งบรรณาธิการ เข้าใจ “ดียิ่ง”

 

วาบความคิด ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน-3 กรกฎาคม พ.ศ.2546 (จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่เป็นบันทึกแห่งยุคสมัย วาบความคิด อาจินต์ ปัญจพรรค์ สำนักพิมพ์มติชน 2550)

อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้เขียนถึง

“วัตถุดิบ”

และ

“วัตถุสุก”

ของนักเขียน

ทำให้เรารู้จักตัวตนของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้อย่างกระชับ สั้น ดียิ่ง

 

“…วัตถุดิบที่อาจินต์เอามาเรียบเรียงเป็นเรื่องสั้น หรือสารคดี

ล้วนเป็นสิ่งที่ผ่านพบมาในวัยเรียน จนถึงอายุ 13 ปี (เรียน ม.5)

ใช้จินตนาการเพื่อเขียนเรื่องเมื่ออายุ 22 ปี (เศรษฐศาสตร์ กลางทะเลลึก)

และเมื่ออายุ 26 ปี กลับจากเหมืองแร่เข้ากรุงเทพฯ

ใช้สิ่งแวดล้อมชีวิตในยามตกงานในกรุงเทพฯ เขียนเรื่องสั้นชื่อ ‘สัญญาต่อหน้าเหล้า’ ได้ลงใน ‘สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์’

แล้วทีนี้ก็คุ้ยเขี่ย ‘วัตถุดิบ’ ในเหมืองแร่มาเขียนเรื่องสั้น

ชื่อเรื่อง ‘ผีตัวแรก’ ลงในหนังสือ ‘โฆษณาสาร’ รายเดือนเป็นครั้งแรก ค่าเรื่อง 40 บาท (พ.ศ.2497)

เรื่องที่ 2 ของชีวิตในเหมืองแร่ ได้ตีพิมพ์ใน ‘สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์’ ชื่อ ‘สุดสายฝน’

เรื่องนี้แหละมีอิทธิพลในก้าวเดินด้วยเรื่องชุดเหมืองแร่อย่างถาวรและยาวนาน

เพราะว่าท่านผู้หลักผู้ใหญ่แฟนสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ท่านหนึ่งเขียน จ.ม. ถึง บ.ก. ว่าต้องการอ่านเรื่องเหมืองแร่ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ อีก

ท่านผู้นั้นคือ ร.ต.อ.ประสัตถ์ ปันยารชุน (ขณะนั้นท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาภูมิรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ)

ท่านผู้นี้มีเมตตาคบหาสมาคมกับผู้เขียนมาจนถึงปัจจุบัน (2546)

ความต้องการของท่านผู้นี้ทำให้ผมรื้อความทรงจำ 4 ปีในเหมืองแร่มาเขียนเรื่องสั้น

จาก พ.ศ.2497 จนถึงปัจจุบัน

รวมได้ประมาณ 100 กว่าเรื่อง

ในระหว่างเขียนเรื่องเหมืองแร่ ผมก็แสวงหาวัตถุดิบ (สิ่งแวดล้อมชีวิต) และวัตถุสุก (หนังสือเล่มและนิตยสาร)

ผมจดจำ บันทึก สะสมบรรยากาศของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2496 เป็น ‘วัตถุดิบ’

และอ่านหนังสือและนิตยสารเป็นวัตถุสุก เรื่อยมา

และเมื่อไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ถ่ายรูปและจดจำ บันทึกไว้เป็นวัตถุดิบด้วย

‘วาบความคิด’ ตอนนี้กำลังจะแห้ง กระด้าง ด้วยเรื่องส่วนตัว

ผมจะหยุดไว้แค่นี้

เพราะผมเชื่อคำสอนของ ‘ส.ธรรมยศ’ ที่ว่า

‘ในการเขียนสารคดี อย่าเขียนอย่างแห้งกระด้าง

จงเขียนให้มีชีวิต’

ผมเชื่อคำแนะนำนี้ จึงต้องหยุดพักไว้ก่อน…”

 

วรรคทองที่มติชนสุดสัปดาห์ขอบันทึก

อาจินต์ ปัญจพรรค์

เกิด : 11 ตุลาคม พ.ศ.2470

ถึงแก่กรรม : 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 (91 ปี)

วันในฤดูหนาว ที่ไม่หนาว มีฝนตก