ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 9-15 พฤศจิกายน 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

วันที่มติชนสุดสัปดาห์วางแผง

โลกคงได้ทราบผล

“การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ที่มีขึ้น 6 พฤศจิกายน 2561” ไปแล้ว

ฝ่ายอำนาจนิยม และขวาจัด จะได้เฮ

หรือฝ่ายเสรีนิยม จะมีความหวังมากขึ้น ในการโค่นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

การเลือกตั้งกลางเทอม มีขึ้นหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ครองตำแหน่งมาได้ครึ่งทาง คือ 2 ปี จากวาระ 4 ปี

จะต้องมีการเลือกตั้งกลางเทอม

ชิงที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 435 ที่นั่ง และวุฒิสภา 35 ที่นั่ง

หากผลออกมา พรรคพรรครีพับลิกันของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ให้กับพรรคเดโมแครต

นั่นจะเป็นสัญญาณ “หายนะ” ของทรัมป์

ผู้ยึดมั่นในนโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์” อย่างมากทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงสู้สุดฤทธิ์

ลุยนโยบายสุขภาพ เศรษฐกิจ การจ้างงาน การครอบครองอาวุธปืน ผู้อพยพ การปฏิรูปภาษี

รวมถึงการต่างประเทศ ที่เปิดฉากสงครามการค้ากับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน รวมถึงแซงก์ชั่นอิหร่าน

ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

(อ่านบทความพิเศษ ใครจะกล้าล้มอเมริกา “มาเฟียคุมโลก” ของประกายพร วงศ์วุฒิ หน้า 31 และบทความพิเศษ ของนงนุช สิงหเดชะ ผลงานเรื่อง ‘ทรัมป์’ ล้วนๆ การเมืองแตกแยกถึงขั้นใช้ระเบิด หน้า 50)

 

นอกจากนี้ ในช่วงสุดท้ายของการหาเสียง

ทรัมป์ปลุกกระแสเอาใจพวกชาตินิยม อนุรักษ์ และขวาจัด ด้วยการประกาศเร่งสร้างกำแพงชายแดน เพื่อป้องกันขบวนผู้อพยพจากอเมริกากลาง

พร้อมสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก

ด้วยการประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่า

“ทหารที่ประจำการอยู่ที่ชายแดนเม็กซิโกอาจยิงผู้อพยพชาวอเมริกากลางที่พยายามขว้างหินใส่ขณะที่พยายามเดินทางข้ามชายแดนเม็กซิโกเข้ามายังฝั่งสหรัฐโดยผิดกฎหมายได้”

คำประกาศนี้ มีขึ้นหลังจากมีการอ้างว่า ผู้อพยพกลุ่มหนึ่งจำนวนหลายพันคนที่เดินทางจากเม็กซิโกมุ่งหน้ามายังชายแดนสหรัฐได้ขว้างหินใส่ตำรวจเม็กซิโก “อย่างโหดร้ายและรุนแรง”

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงประกาศว่า

“เราไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น หากพวกเขาขว้างหินใส่ทหารของเรา เราจะต่อสู้กลับ”

“ผมบอกพวกเขาว่าให้ถือว่าหินเป็นปืนไรเฟิล เมื่อพวกเขาขว้างหินใส่ตำรวจเม็กซิโก ผมบอกว่าให้คิดซะว่าเป็นปืนไรเฟิล” นายทรัมป์กล่าว (มติชนออนไลน์)

กระสุนปืนแลกก้อนหิน เป็นอีกหนึ่งวาทะเหยี่ยว ที่สั่นสะเทือนไปทั้งโลก

ฝ่ายที่ต่อต้านทรัมป์ โจมตีทันทีว่า การหวังผลแค่ชนะเลือกตั้ง ไม่น่าจะเรียกความหฤโหดจากผู้นำมหาอำนาจโลกได้ถึงขนาดนี้

แต่ฝ่ายขวาจัดฟังแล้วคงชอบใจ และอาจจะแห่ไปโหวตช่วยทรัมป์

ซึ่งมีโอกาสสูงที่ทรัมป์จะ “กร่าง” ต่อไป เหมือนผู้นำขวาจัดชนะการเลือกตั้งในหลายประเทศ

 

จากสหรัฐมาถึงไทย

ฝ่ายประสานงานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights : APHR)

มีอีเมลมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

“APHR อยากขอนำเสนอบทความซึ่งเขียนโดยกษิต ภิรมย์ อดีต รมต.ต่างประเทศ ซึ่งเป็นกรรมการของ APHR เกี่ยวกับการปราบปราม ‘เครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ’ ที่เป็นคำสั่งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ซึ่งคุณกษิตได้เขียนตอบโต้ว่า ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่นั้นมิใช่อาชญากร หากแต่เป็นผู้ลี้ภัยต่างหาก

ทาง APHR ยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากทางกองบรรณาธิการสนใจตีพิมพ์บทความดังกล่าว”

 

มติชนสุดสัปดาห์ ยินดี-ไม่มีปัญหา

พร้อมกับจะยินดียิ่ง

หากฝ่ายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเฉพาะทีมงานของ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ (โจ๊ก) หักพาล รักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รรท.ผบช.สตม.) จะมีคำชี้แจงเพิ่มเติมหากบทความของกษิต ภิรมย์ พาดพิงถึง

อนึ่ง กษิต ภิรมย์ เป็นเจ้าของวาทะ เวทีม็อบพันธมิตรฯ “อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ”

ปูทางไปสู่การรัฐประหารปี 2549 และสืบเนื่องถึง 2557

แต่กระนั้นจุดยืนระยะหลัง กษิต ภิรมย์ จะมีคีย์ต่างจากคณะรัฐประหารอย่างสังเกตได้

ทำไม?

กษิต ภิรมย์ อาจมีอะไรมาเขียนเล่าสู่กันฟัง หลังจากนี้ก็ได้