ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 14-20 กันยายน 2561

ขอแสดงความนับถือ

เรียน บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์
ผมเดินทางมาดูงานหลายเรื่องในสหรัฐ โดยเฉพาะการศึกษา กับการพัฒนาความเป็นพลเมือง
ตั้งใจจะเขียนส่งให้มติชนสุดสัปดาห์ หลายๆ ตอน และแต่ละตอนให้มันจบไปเลย เผื่อว่าคนอ่านจะได้ไม่ต้องรอ ตอนหนึ่ง ตอนสอง ตอนสาม
คงไปหลายๆ แห่ง เขตตอนเหนือของสหรัฐครับ
ด้วยความเคารพยิ่ง
ธเนศวร์ เจริญเมือง

พร้อมอีเมล มีบทความแนบมาด้วย 2 ตอน
1) มหาวิทยาลัยในตะวันตก : ทิศทางการพัฒนา
และ 2) แนวทางของการศึกษาระดับอุดมศึกษา
นำเสนอให้อ่านใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้เป็นตอนแรกแล้ว
ส่วนที่เหลือคงทยอยนำเสนอตามความเหมาะสม

ในตอนแรก
ธเนศวร์ เจริญเมือง เล่าถึงการไปมหาวิทยาลัยแมรี่ วอชิงตัน (University of Mary Washington – UMW) เมืองเฟรเดอริกสเบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย
ไปฟังประธานมหาวิทยาลัยปราศรัยถึงทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย
สิ่งประทับใจแรกที่ธเนศวร์ เจริญเมือง ประสบคือ
การปราศรัยที่มีบรรยากาศของสังคมประชาธิปไตย
ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีระบบและลีลาเจ้าขุนมูลนาย
ไม่มีท่าทีประจบเอาใจผู้บริหารหรือยืนกุมมือ
ห้องประชุมไม่มีอะไรตกแต่งเป็นพิเศษ ที่ต้องใช้งบฯ เพิ่ม
ไม่มีพิธีรีตองให้เสียเวลา ทุกอย่างเรียบง่าย เป็นกันเอง
แต่เป็นการเป็นงานมาก

รายละเอียดเป็นอย่างไร พลิกอ่านหน้า 19
อ่านแล้ว จะเอาบรรยากาศดังกล่าว
มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ปรากฏใน “ยุทธบทความ” ของสุรชาติ บำรุงสุข
แบบ “คนละเรื่องเดียวกัน” ด้วยก็ได้
ในยุทธบทความ ที่ว่าด้วย “เมื่อข้าราชการเป็นนักยุทธศาสตร์ เมื่อยุทธศาสตร์เป็นของรัฐราชการ”
ตอนหนึ่งกล่าวถึงการบริหารรัฐไทย
โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน
ที่เราพบว่า คณะรัฐมนตรีต้องแต่งเครื่องแบบราชการ…
ซึ่ง “สุรชาติ” ตั้งข้อสังเกตว่า
“รัฐมนตรีมีขีดอินธนูบนบ่า เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นหัวหน้าราชการในสายงานต่างๆ
(แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีคณะรัฐมนตรีของประเทศใดในโลกที่ใส่เครื่องแบบราชการ!)
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐมนตรีเป็นตัวแทนของราชการ ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน
พวกเขาไม่ได้รับฉันทานุมัติในการบริหารประเทศจากการออกเสียงของประชาชน
ขณะเดียวกันข้าราชการก็ถูกเข้มงวดกับการแต่งเครื่องแบบเพื่อตอกย้ำถึงอำนาจของความเป็นรัฐราชการไทย
และสภาวะเช่นนี้ก็สอดรับอย่างดีกับการกำเนิดและการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหาร
หรืออาจมองได้ว่า รัฐราชการก็คืออีกด้านหนึ่งของความเป็นรัฐทหารนั่นเอง…”
นั่นย่อมเป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากที่ธเนศร์ เจริญเมือง เจอในพื้นที่ “ปัญญาชน”

จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่วันดีคืนดี จะมีการงัดระเบียบ “ราชการ” ให้นักข่าว-ช่างภาพต้องยืนห่าง และโค้งคำนับนายกฯ และรัฐมนตรี
อย่างมากด้วยพิธีรีตอง
และภายใต้ค่านิยม “ความสงบเรียบร้อย”

อนึ่ง แม้คอลัมน์ “หลังเลนส์ในดงลึก” ของปริญญากร วรวรรณ
จะยังไม่ได้นำเสนอเรื่องเสือดำ
ตามคำเรียกร้องของ “แมวดำ” ในฉบับนี้
กระนั้น ภาพคนไถนา มีฝูงนกยางสีขาวๆ จำนวนมากเดินตามหลัง ที่เราเจนตาโดยเฉพาะท้องนาภาคกลาง อาจเป็น “ภาพ” ที่หายไป
ก็เป็นประเด็นร้ายแรง ที่ปริญญากรตั้งใจนำเสนอ
ด้วยมันไม่ต่างกับที่ “สมัน” กวางพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พบเพียงแห่งเดียวในโลก บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย “สูญพันธุ์”
จาก “กระสุน” ล่า
นกยาง แม้ไม่ได้เผชิญชะตากรรมจากห่ากระสุนเหมือนเสือดำ หรือสมัน นั้นก็ตาม
แต่สารเคมี ยาฆ่าแมลง ฆ่าวัชพืช ที่ “ทางการ” มีมติยืนกราน “ไม่ยกเลิกการใช้”
ก็อาจมีผลร้ายแรงไม่ต่างจาก “กระสุน” เช่นกัน