ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 3-9 สิงหาคม 2561

ขอแสดงความนับถือ

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ที่ถูกคำสั่งมาตรา 44 ปลด
นำเสนอ “บทความพิเศษ” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” อย่างเงียบ-เงียบ หลายสัปดาห์แล้ว
ที่ให้มาเงียบ-เงียบ
ด้วยเพราะ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” มี “ธาตุสายล่อฟ้า” (ฮา) อยู่ในตัว
ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวโป้งป้างขึ้นมาเอง (ฮา-ฮา)

อย่างในสัปดาห์นี้ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ภูมิใจนำเสนอ
“จะเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไร”
โดยโฟกัสไปที่ “กติกา” อันดับแรก
เพราะกติกาที่ดี
ย่อมเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และสามารถคัดกรอง “คนการเมือง” ที่มีคุณภาพได้
แต่แม้เราจะมี
– มือร่างกฎหมาย มือดีที่สุดของประเทศ มีประสบการณ์ในการร่างกฎหมายสำคัญมานับครั้งไม่ถ้วน
– ฝ่ายสนับสนุนการร่างกฎหมาย คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้เป็นมือกฎหมายแห่งแผ่นดิน ความประณีตในการบรรจงสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อเป็นทางออกของประเทศจึงน่าจะดูสดใส
แต่การณ์กลับว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเหล่านี้
ตกหลุมพลางแห่งการลองผิดลองถูก
เอาประเทศชาติเป็นเครื่องทดลองอีกครั้ง
ทำไมเป็นเช่นนั้น โปรดพลิกอ่านที่หน้า 33
เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย มีปฏิกิริยาได้เต็มที่
“สมชัย ศรีสุทธิยากร” ล่อฟ้าเต็มที่

เช่นเดียวกับข้อคิดเห็นของ “อุดร ตันติสุนทร” แห่งมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ที่ส่งจดหมายมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”
ในประเด็น
“การรวบอำนาจ คือทางไปสู่เผด็จการ
การกระจายอำนาจ คือทางไปสู่ประชาธิปไตย”
โดย “อุดร ตันติสุนทร” นำเสนอข้อคิดดังนี้

การเมืองคืออะไร
การเมืองคือการปกครองบ้านเมือง
การปกครองบ้านเมืองนั้น วัตถุประสงค์คืออะไร
คือ การดูแลประชาชน ให้ประชาชนทุกคนอยู่ดี กินดี เป็นปกติสุข
ประชาชนนั้นประกอบไปด้วย เด็กเล็ก เยาวชนวัยเรียน คนหนุ่มสาววัยทำงาน คนแก่วัยเกษียณพักผ่อน
ในหลวงภูมิพลอดุลยเดช ทรงสอนพวกเราว่า
“…ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”
เป็นสัจวาจา เป็นคำพูดที่เป็นความจริง
เป็นอมตะวาจา เป็นคำพูดที่ไม่มีวันตาย
คือพูดวันนี้ “ถูก” อีกร้อยปีพูด ก็ถูกอีก
ถามว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ผู้มีอำนาจปกครองคือใคร
คือ “นักการเมือง” นั่นเอง
นักการเมืองเขามาจากไหน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นักการเมืองมี 2 ระดับ
1 ระดับชาติ ได้แก่ ส.ส. 5,000 คน
2 ระดับท้องถิ่น ได้แก่
2.1 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1 คน
2.2 นายกเมืองพัทยา 1 คน
2.3 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 คน
2.4 นายกเทศมนตรี 2,441 คน
2.5 นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 5,333 คน
อำนาจและหน้าที่ของนักการเมืองระดับชาติ มี 2 อย่างคือ
1 ออกกฏหมาย
2 ตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรี 35 คน
อำนาจหน้าที่ของนักการเมืองท้องถิ่น คือการทำให้ทุกคนในทุกครอบครัว ในเขตท้องถิ่นของตน ต้องมี
1 น้ำไหล (ทั้งน้ำประปาและน้ำเพื่อการเกษตร) 2 ไฟสว่าง 3 ทางดี 4 สิ่งแวดล้อมดี 5 ศึกษาดี 6 อนามัยดี 7 อาชีพดี และ 8 วัฒนธรรมดี
โดยสรุป
1 ถ้าพวกเราช่วยกันเลือกนักการเมืองระดับชาติที่ดี ประเทศชาติบ้านเมืองก็จะดี ถ้าเราเลือกคนไม่ดี บ้านเมืองก็จะวุ่นวาย
2 ถ้าเราเลือกนักการเมืองท้องถิ่นที่ดี ประชาชนในเขต อบต.ของเรา เทศบาลของเรา อบจ.ของเรา ก็จะดี

ไม่ขัดแย้ง เห็นด้วยกับข้อสรุปในเชิงไอเดียของอุดร ตันติสุนทร
แต่ถัดขึ้นไปคือ ข้อสังเกตของสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ระบุว่า การเลือกตั้งมันบิดเบี้ยว
มาตั้งแต่ “กติกา” แล้ว
เรามีสิทธิได้เลือกคนดี ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น หรือเปล่า
ใครอยากตอบ เชิญ…