ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 27 ก.ค. – 2 ส.ค. 2561

ขอแสดงความนับถือ

ครัวอยู่ที่ใจ ของอุรุดา โควินท์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ว่าด้วยซุปใสที่อุรุดาบอกว่าสอนประสบการณ์ให้รู้จัก “รอ”
“แรกทีเดียว ฉันไม่ยอมรอ รอไม่เป็น วัยรุ่นใจร้อน ก็ซุปก้อนไง ผงนู่น ผงนี่ ใส่ลงไป ตั้งน้ำให้เดือดกินได้แล้ว…
…แต่รสมือของยาย ของแม่ บอกว่า ไม่อาจเป็นอื่นไปได้
ฉันต้องเรียนรู้ที่จะรอ
เริ่มต้นจากการทำซุป ขยับขยายสู่หลายเรื่องในชีวิต
แค่รู้จักรอ ฉันก็เบาสบาย…”

ครัวอยู่ที่ใจ ฉบับนี้
เธออยู่กับ “ตา” – ตาต๊อก
เจ้าของนามสกุลโควินท์
ที่ไม่ใช่อินเดีย หรือฝรั่ง
หากแต่เป็น แซ่โค้ว ที่เธอจะใช้ไปตลอดชีวิต
…มั่นใจตาจะส่งยิ้มภาคภูมิใจมาให้ ที่เห็นนามสกุลอยู่บนปกหนังสือ
ตาอาจงง ว่าหลานมีชีวิตอย่างไร
อยู่บ้านทั้งวัน เดี๋ยวก็ทำกับข้าว เดี๋ยวก็ไปวิ่ง
เอาเงินจากไหนมาใช้

แต่อุรุดา โควินท์ ก็ยืนยันมั่นคงในการเขียน
เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ค่อยๆ เคี่ยวกรำตามแนวทางของเธอ
อาจนอกคอก นอกขนบ นอกระบบ
โดยอาหารถูกนำเสนอใน “มติชนสุดสัปดาห์”
และส่วนการวิ่ง คือหนังสือเล่มใหม่เอี่ยมของเธอ
“ค่อยๆ ไปแต่ไม่หยุด”
ทั้งอาหารและวิ่ง ล้วนออกมาจากการ “ปฏิบัติจริง”
แต่ด้วยวัยและประสบการณ์ สิ่งที่ออกมาจาก “ปฏิบัติจริง” นั้น
อาจยังมิใช่ผลึก
หากแต่ยังต้องผ่านการเจียระไน และวิพากษ์วิจารณ์อีกมาก
ดัง “อีเมล” ฉบับนี้

เรียน ท่านบรรณาธิการ
ดิฉันอ่านมติชนสุดสัปดาห์มานานไม่ต่ำกว่า 15 ปี และอาจมากกว่า คงไม่ต้องบอกว่าชื่นชมและศรัทธามากแค่ไหน
ปัจจุบันดิฉันเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ
สิ่งที่ติดตามมาคือความรำคาญใจ
เพราะดิฉันหวังว่านักเขียนทุกคนของมติชนควรมีความเป็นมืออาชีพ
และให้ความรู้สึกดีงามแก่คนอ่าน
มิใช่อ่านผ่านๆ ไปโดยไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน จากการที่ออกจากบ้านไปยังแผงหนังสือทุกวันศุกร์ เพื่อเจียดเงินที่มีน้อยนิดซื้อมติชนสุดสัปดาห์
การนำคอลัมน์ครัวอยู่ที่ใจ ของคุณอุรุดา โควินท์ มาแทนคอลัมน์ของคุณประภาส อิ่มอารมณ์ นั้น
ทำให้ดิฉันผิดหวังมาก
เพราะคุณอุรุดาดูไม่ค่อยตั้งใจกับการคัดเลือกอาหารมาทำให้ผู้อ่านสนใจ
ช่วงแรกๆ เธอเขียนเรื่องข้าวต้มเสีย 2 ตอน ไข่เจียว ฯลฯ
มีบางตอนที่อาหารน่าสนใจบ้าง
แต่ดิฉันเริ่มไม่มั่นใจในทักษะการทำอาหารของเธอ
เช่น แซนด์วิชมื้อเช้า และคลับแซนด์วิช เทคนิคที่นำเสนอทั้ง 2 ตอน คือให้ใช้มือกดแซนด์วิชให้แน่นๆ แบนๆ เพื่อจะหั่นเฉียงได้รอยตัดคม
ที่จริงควรลับมีดให้คมก่อนใช้ หรือใช้มีดซี่เลื่อยสำหรับตัดขนมปังมาใช้ดีกว่าไหม
ที่รับไม่ได้อย่างมาก คือเธอปรุงแกงกะหรี่ด้วยน้ำปลา
ซึ่งกลิ่นเข้ากันไม่ได้เลย
ถือเป็นข้อห้ามเลยสำหรับคนทำอาหารเป็น
ปรุงรสด้วยเกลือเท่านั้นค่ะสำหรับแกงกะหรี่
และล่าสุด ขนมจีนซาวน้ำ เธอว่าแม่เรียกน้ำกะทิสำหรับใส่ขนมจีนซาวน้ำว่า แจงลอน
โอ้ แม่เจ้า! ลูกชิ้นปลากรายที่แม่ครัวมือฉมังสมัยก่อนนั้น เขาต้องซื้อปลากรายสดมาขูดเนื้อ แล้วขยำเองกับน้ำปลาจนเหนียวแล้วปั้นลงในน้ำกะทิเดือดพล่านนั่นละค่ะคือ แจงลอน
ถ้าท่าน บ.ก. ต้องการให้คุณอุรุดาเขียนต่อไป
ดิฉันขอเสนอว่า ถ้าอยากเล่าเรื่องชีวิตอันน่าสนใจของเธอก็เล่าไปเถิดนะคะ แต่ไม่ต้องโยงเรื่องอาหารมาแอบอิงได้ไหม?
ขอแสดงความนับถือ
สว.ที่รู้เรื่องอาหารพอควร

ท่าทีแบบ “ครูไหว” ของ “สว.ที่รู้เรื่องอาหารพอควร”
อ่านแล้วอาจจะเสียกำลังใจบ้าง
แต่หากมองอย่างเข้าใจ มุมมองใน “เชิงรายละเอียด” อาจทำให้เรารอบคอบขึ้น
แม้บางที แกงกะหรี่ใส่น้ำปลา ก็ท้าทายรสปากใครต่อใครอยู่ไม่น้อยก็ตาม
อาหารและการวิ่ง สำหรับอุรุดาคงไม่ใช่ฮาว ทู
แต่มันมี “อะไร” อยู่ในนั้นด้วย
การค่อยๆ ไป แต่ไม่หยุด เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
สักวัน “สว.ที่รู้เรื่องอาหารพอควร” อาจจะเปิดใจให้อุรุดา โควินท์ บ้าง