ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 14 ต.ค. – 20 ต.ค. 2559

มูลนิธิ 14 ตุลา แจ้งข่าว ปีนี้ยังมีงานรำลึก 14 ตุลา เช่นทุกปี

ภาคเช้า ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กทม.

ตั้งแต่ 07.30 น. ทำบุญตักบาตร พิธีกรรม 3 ศาสนา และพิธีวางพวงมาลาและกล่าวสดุดี

10.40 น. ปาฐกถา “ใครเป็นผู้รับผิดชอบความรุนแรง?” โดย ธัมมนันทาภิกษุณี (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์)

11.30 น. สันติสุข โสภณสิริ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา กล่าวปัจฉิมกถา

ภาคบ่าย 13.30-16.00 น. เสวนาวิชาการ “อนาคตการเมืองไทย กับประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน”

ณ ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

 

เพื่อไม่ให้ 43 ปี 14 ตุลาคม 2516 เงียบเหงาเกินไป

“มงคล วัชรางค์กุล” ส่งบทความมาร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

ด้วยการฟื้นความหลัง ถึง “ชมรมพระจันทร์เสี้ยว”

“พระจันทร์เสี้ยว” ที่ วิทยากร เชียงกูล เจ้าของบทกวีและหนังสือ “ฉันจึงมาหาความหมาย” อันโด่งดังในช่วง 14 ตุลา เป็นคนตั้ง

โดยติดใจ ภาพ กวีและนักปราชญ์จีนออกมาสังสรรค์อ่านบทกวีกันในคืนพระจันทร์เสี้ยว

จึงตั้ง “พระจันทร์เสี้ยว” ให้หมู่เพื่อนพ้องนักเขียน นักกวีชาวสวนกุหลาบฯ และผองเพื่อนทั้งมวล มาพบปะกัน

และนำไปสู่การก่อตั้ง สำนักพิมพ์พระจันทร์เสี้ยว และบริษัท หนังสือ จำกัด

โดยเช่าออฟฟิศอยู่บนชั้นสองของร้านขายหนังสือปากซอยโรงหนังเอเธนส์ ราชเทวี

มี สุเมธ คล้ายสุบรรณ นั่งประจำเป็นผู้จัดการ

 

สุเมธ คล้ายสุบรรณ นี่เอง ที่ “มงคล วัชรางค์กุล” หยิบมาบันทึกไว้ หลังเวลาผ่านไป 43 ปี

“…มีเหตุการณ์หนึ่งใน 14 ตุลา ที่ไม่เคยเปิดเผยในที่ใดมาก่อน

ถึงเวลาที่จะนำหน้าประวัติศาสตร์นี้มาเปิดต่อเนื่อง เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องราวที่เกิดขึ้น

นั่นคือ ถ้า 14 ตุลา พ่ายแพ้ จะทำอย่างไร

มีการเตรียมแผนหนี

ช่วงนั้นผมเข้ามากรุงเทพฯ ไปสังเกตการณ์การชุมนุมของนักศึกษาในธรรมศาสตร์และร่วมบริจาคสมทบทุน แล้วเดินไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สุเมธ คล้ายสุบรรณ ปิดห้องประชุมลับกับผมสองคนที่สำนักพิมพ์พระจันทร์เสี้ยว

วางแผนว่า ถ้าวันชุมนุมใหญ่แล้วกลุ่มนักศึกษาเกิดพ่ายแพ้ จะทำอย่างไร…”

นี่คือที่มาของบทความ “ถ้า 14 ตุลา พ่ายแพ้” ของ “มงคล วัชรางค์กุล” (พลิกอ่านหน้า 92)

 

แม้ว่า “แผน” ดังกล่าวจะไม่ได้ถูกใช้ เพราะในวันนั้น นักศึกษา “ชนะ” ก็ตาม

แต่ “มงคล วัชรางค์กุล” ก็บันทึกไว้ว่า

(ถึงจะ) ปิดฉากหน้าประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ได้สมบูรณ์

แต่เพื่อน สุเมธ คล้ายสุบรรณ

ไม่ได้หนี

กลับหายสาบสูญไปกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

นี่ย่อมเป็นความเศร้าสร้อยอย่างไม่ต้องสงสัย

ขอปิดฉาก “เดือนตุลา” ปีนี้

ด้วย “กรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519” ของ “สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ”

พุธเช้าที่ “หกตุลา…สองห้าหนึ่งเก้า”

วิทยุปลุกเร้าเหล่านักฆ่า

ทั้งโป้ปดโหดร้ายไร้เมตตา

สวมวิญญาณสัตว์ป่าสู่นาคร

สร้างเงื่อนไขให้รักชาติศาสนา

สร้างคติมายาอุทาหรณ์

สร้างสังคมเชื่องมงายคลายเดือดร้อน

สร้างวงจรอุบาทว์ฆาตกรรม

มันจึงเป็นเส้นทางวางก้ามใหญ่

ล้วนกลไกชูชุบอุปถัมภ์

เพื่อตอกย้ำคำตอบอันชอบธรรม

รุกกระหน่ำเสริมระบบตบตาคน

นักศึกษาล้มตายคล้ายมดปลวก

ถูกกะซวกถูกแทงแย้งเหตุผล

ที่บาดเจ็บนับพันพร้อมยอมจำนน

ที่หลุดพ้นก็ขึ้นภูกลับสู้กัน

เบื้องหลังฉากม่านสีดำอำนาจมืด

คงกำพืดธาตุแท้มิแปรผัน

รักษาผลประโยชน์ไว้ในช่วงชั้น

ดุจสวรรค์บนดินต่างยินดี

วัฏจักรคือหลักฐานจดบันทึก

ร่วมสำนึกร่วมรักร่วมศักดิ์ศรี

จึงจะเป็นประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์นี้

หากไม่มี “สามร่วมนั้น” พลังพังครืน!