ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 15-21 มิถุนายน 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

ในตะกร้าจดหมาย

มีไปรษณียบัตรของผู้ใช้นามว่า “ท.ไท อดทน”

เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557

ผ่านการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาหมาด-หมาด

อาจเป็นคำตอบว่า ไฉนไปรษณียบัตรฉบับนี้จึงนิ่งสงบในตะกร้า

 

ไม่ต้องคิด ต้องพูด รูดปากไว้

ไม่ต้องไอ ต้องจาม ตามวิสัย

ไม่ต้องเขียน ต้องอ่าน ออกนอกใจ

ไม่ต้องซักไซ้ ไต่ถาม ความเป็นคน

 

ไม่ต้องเร่ เรียกร้องไป ให้ไร้ผล

ไม่ต้องทำ สัญลักษณ์ แสดงตน

ไม่ต้องพ่น วาทกรรม คำเหิมเกริม

ไม่ต้องอวดรู้ อวดเก่ง กร่างวางบิล

 

ไม่ต้องกิน แซนด์วิช แมคโดนัลด์เสริม

ไม่ต้องทำ ปีกพิราบ เพรียกร้องเพลิน

ไม่ต้องเกริ่น แกว่งปากไป ให้เสี้ยนตำ

 

เชลียร์ อย่างเดียว เขียวลูกพ่อ

เชลียร์ ให้หนำใจพอ อย่าพล่ามพร่ำ

เชลียร์ ด้วยวจี จับใจจำ

เชลียร์ เลิศเลอล้ำ จนเลิศลอย

 

ผ่านมา 4 ปีกว่า สภาพประเทศไทยดีกว่าที่ ท.ไท อดทน เขียนไว้หรือไม่

หรือก็คือ สภาพบ้านเมืองตอนนี้ ก็เหมือนกับ 4 ปีที่แล้ว

ประเทศไทยไม่ได้ไปไหน

เราผ่านพฤษภาทมิฬ

ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ผ่าน 14 ตุลาคม 2516

ผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

ทุกอย่างยัง เซม-เซม

ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะใน “แง่ประชาธิปไตย”

 

เราต้องเรียนรู้กันต่อไป (ฮา)

แล้วจะอ่านอะไรใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ดี

จึงจะเหมาะสมกับเหตุข้างต้น

ขอแนะนำงานเขียนของ “สุรชาติ บำรุงสุข”

ที่ว่าด้วย

“ปฏิรูปกองทัพใหม่!

สร้างกองทัพในโลกสมัยใหม่”

สุรชาติ บำรุงสุข บอกว่า หากสำรวจกองทัพทั่วโลกในปัจจุบัน จะพบว่าทหารมีภารกิจหลักสำคัญที่ยอมรับว่าเป็นสากลและมีความคล้ายคลึงกันอยู่ 5 ประการ คือ

1) ปกป้องเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐ

2) บทบาทในการรักษาสันติภาพ ตลอดรวมถึงภารกิจในการบังคับให้เกิดสันติภาพ

3) บทบาทในการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ

4) บทบาทในงานด้านความมั่นคงภายใน อันได้แก่ การช่วยเหลือรัฐบาลพลเรือนในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมื่อได้รับการร้องขอ

และ 5) มีส่วนร่วมในการสร้างชาติ หรือบทบาทของทหารทางสังคม

 

ยกเว้นบางประเทศที่กองทัพมีภารกิจข้อที่ 6

นั่นก็คือ บทบาทของทหารในการเมือง

ภารกิจข้อนี้ได้กลายเป็นภารกิจหลักและมีความสำคัญมากกว่าภารกิจอื่นๆ

จนกองทัพกลายเป็น “ทหารการเมือง”

 

อย่างไรก็ตาม เพราะโลกที่เปลี่ยนไป

ทำให้กองทัพในหลายๆ ประเทศ รู้สึกหยุดนิ่ง หรือล้าหลัง กับความเป็นทหารการเมือง อยู่ต่อไปไม่ได้

จำเป็นต้อง “ถอนตัวของทหารออกจากการเมือง” และ “ปฏิรูปทหาร”

เพื่อให้ประเทศของตนเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสประชาธิปไตยอันแท้จริง

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะต้องทำให้กองทัพทันสมัยเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้

มิเช่นนั้น จะตกขบวนการเปลี่ยนแปลง

การปฏิรูปกองทัพจึงต้องเกิดขึ้น

เพราะเป็น “เงื่อนไข” สำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

หลายประเทศประสบความสำเร็จงดงาม

หลายประเทศกำลังพยายามปฏิรูป

เช่นเดียวกับหลายประเทศ แม้จะจะมีคำว่าปฏิรูป ติดปาก

แต่การกระทำกลับถอยหลังไปเรื่อยๆ

 

ประเทศไทยเราอยู่ในกลุ่มไหน

ก็คงแลเห็นกันอยู่

และคงต้องช่วยกันอ่านบทความของ “สุรชาติ บำรุงสุข” กันมากๆ