ขอแสดงความนับถือ / ฉบับประจำวันที่ 1-7 มิถุนายน 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทำการ์ดวันวิสาขบูชา แจกจ่ายทุกปี

ปีนี้ยกเรื่อง “ขันติ” มาเป็นไฮไลต์

“ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์

ขันติเป็นตบะของผู้พากเพียร

ขันติเป็นกำลังของนักพรต

ขันตินำประโยชน์สุขมาให้”

 

ค้นเข้าไปยังกูเกิล หาความหมายคำว่า “ขันติ”

เว็บ www.84000.org

เปิดพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ขันติ&detail=on

http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A2%D1%B9%B5%D4&detail=on

พบ “ขันติ” ใน 13 แห่ง

 

1)ขันติ ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ, ความหนักเอาเบาสู้ เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม

2) หลักธรรมสำหรับการครองเรือน มี 4 อย่างคือ

ในข้อสาม ระบุให้ (มี) ขันติ ความอดทน

3) ธรรมทำให้งาม 1 ใน 2 คือ ขันติ ความอดทน

4) สำหรับภิกษุ ให้มีคุณานิสงส์แห่งขันติธรรม

ให้ใส่ใจในธรรม ในเมื่อได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

5) บารมี คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่งมี 10 อย่าง

คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

6) โพธิสัตว์ ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังบำเพ็ญบารมี 10

คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

7) มหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ชนะพญามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี 10

คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

8) ราชธรรม ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

คุณสมบัติของนักปกครองที่ดี สามารถปกครองแผ่นดินโดยธรรม ใน 10 ประการ

ข้อ 9 ขันติ ความอดทนเข้มแข็งไม่ท้อถอย

9) พระพึงสังวร ความสำรวม ด้วยการระวังปิดกั้นบาปอกุศล 5 อย่าง

หนึ่งในห้าคือ ขันติสังวร ต้องสำรวมด้วยขันติ

10) สารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า

สมบูรณ์ด้วยขันติธรรมต่อคำว่ากล่าว

(ยอมรับคำแนะนำแม้ของสามเณร 7 ขวบ)

11) การฝึกฝนอบรมจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคง

ต้องมีคุณธรรม เช่น ขันติ เมตตา กรุณา สดชื่น เบิกบาน เป็นสุข ผ่องใส

12) อธิวาสนขันติ ความอดทนคือความอดกลั้น

13) โอวาทปาฏิโมกข์

หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ระบุถึง

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง

 

พิจารณาจากข้างต้น “ขันติ” จึงสำคัญ และนำประโยชน์มาให้

ไม่มีขันติ ก็มีโอกาสพลาดไปทำบาป ทำชั่ว

เมื่อมีบาป มีชั่ว ก็ต้องถือว่าเป็นกรรมชั่ว และต้องชดใช้กรรมชั่ว

อยากรู้ว่า ประเภทของกรรม มีอะไรบ้าง

พลิกไปอ่านหน้า 71 บทความพิเศษ “เสฐียรพงษ์ วรรณปก” จะได้รู้

และที่สำคัญจะได้เข้าใจว่า “เจ้ากู” ทั้งหลาย

ที่แม้จะอยู่ในองค์กรปกครองสงฆ์ “ชั้นสูง” ของประเทศ

หรือจะประกาศตนเป็นพุทธะอิสระ

แต่เมื่อ “ขันติ” มีกำลัง “อ่อนลง”

ย่อมมีโอกาสพลาดไปสู่” กรรมดำ”

แรงขนาดไหน

1) แบบให้ผลในทันตา

2) ให้ผลในภพหน้า

3) ให้ผลในภพต่อๆ ไป

หรือ 4) กรรมที่หมดโอกาสให้ผล

อ่านแล้วก็พอพิจารณาได้

พิจารณาได้ว่า ไฉนเพ็ญเดือน 6

ช่างยะเยือก วังเวง สำหรับเจ้ากู หลายรูปยิ่งนัก