ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 11-17 พฤษภาคม 2561

ขอแสดงความนับถือ

แม้ “จเร” จะมากด้วยอารมณ์ขัน ต่อการ “ดูด”

แต่เมื่อลากโยงไปถึง

รถดูดส้วม

“ดูด” ในสายตาของจเร และแฟน

จึงน่าจะเอนเอียงไปในทาง “เหม็นหึ่ง”

คือเป็นไปในทาง “ลบ”

ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงพยักหน้าไปในทางเห็นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม “เต๋า เตาปูน” นักวิชาการแห่งสถาบันดังระดับชาติ

ที่เอ่ยชื่อไปทุกคนย่อมร้องอ๋อ

แต่ก็นั่นแหละ ในยามที่ความเห็นต่าง “เป็นเรื่อง” ได้เสมอ

เธอจึงขออนุญาตที่จะนำเสนอความเห็นทางการเมือง ในนาม “เต๋า เตาปูน”

เต๋า เตาปูน ที่พยายามมองเรื่อง “ดูด” (Party Switching) ในแง่มุมวิชาการ ทางด้าน “รัฐศาสตร์”

ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรือดีงาม

แต่เป็นความพยายามมองอย่างเข้าใจ

อันอาจสามารถนำไปสู่บทสรุปที่น่าสนใจได้

 

ด้วยเหตุนี้ ในมุมมอง “เบื้องต้น” ของเต๋า เตาปูน อาจจะตรงข้ามรถดูดส้วมของจเร

คือ ไม่ได้เหม็นคลุ้งอย่างเดียว

พยายามมองอย่างกลางๆ

พยายามชี้ให้เห็นว่า หากการดูดนั้น เป็นการดูดโดยความ “สมัครใจ”

“นักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าการย้ายพรรคการเมืองเป็นเรื่องผิดปกติ

หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย

การย้ายพรรคการเมืองก็คือ tactic อย่างหนึ่งของนักการเมืองที่จะทำกิจกรรมทางการเมือง” เต๋า เตาปูน ระบุ

แต่กระนั้น ก็เตือนไว้ว่า ไม่ได้หมายความการย้ายพรรค หรือการยอมถูกดูด

จะนำมาซึ่ง “ความสำเร็จ” เสมอไป

มีตัวอย่างมากมายที่ฝ่ายดูดและฝ่ายถูกดูด ล้มเหลว ถึงขนาด “สอบตก” หรือหมดอนาคตทางการเมืองเลยก็มี

 

สําหรับประเทศไทยแล้ว

เต๋า เตาปูน ชี้ว่า การดูดนักการเมืองนั้น จะสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองในระยะสั้น

คือ ทำให้มี ส.ส. จำนวนมากอย่างรวดเร็ว

มีโอกาสที่จะเป็นพรรครัฐบาล

หรือมีโอกาสที่จะเสนอชื่อนายกฯ ก็มีมากขึ้นด้วย

แต่ก็เตือนว่า

ในระยะกลาง อาจเกิดความแตกแยกภายในพรรค

โดยเฉพาะหากการดูด ส.ส. เข้ามาในพรรคนั้น เป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง

ไม่ได้มีอุดมการณ์เป็นตัวนำ

แนวทางในการตัดสินใจทั้งในเชิงนโยบายและเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ส.ส. ที่ได้มานึกถึงผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคพวกเป็นที่ตั้ง

พรรคการเมืองจึงกลายเป็นขั้วการเมืองที่พร้อมจะแตกได้ตลอดเวลา

 

เช่นกัน ในระยะยาว “การดูด” ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตย

พรรคการเมืองต่างๆ จะอ่อนแอลงเนื่องจากการแตกคอกันของกลุ่มก๊วน ส.ส. ภายในพรรค

การเมืองของไทยจะวนเวียนอยู่กับเรื่องผลประโยชน์เฉพาะหน้า

ผลประโยชน์รายบุคคล

การลงทุนทางการเมือง

นายทุนทางการเมือง และการเมืองที่ยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าอุดมการณ์

ซึ่งในที่สุดแล้วจะสร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชน

และเป็นที่มาของปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองของสถาบันอื่นๆ

อย่างที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับประชาธิปไตยของไทย

ซึ่งแม้จะเหม็นคลุ้ง

แต่ก็มิอาจแสดงอาการเหม็นออกมาได้!