เศรษฐกิจ/ชะเง้อคอย! บอร์ด กสทช.รักษาการ จบปมร้อน…อุ้มทีวีดิจิตอล/ประมูลคลื่น 1800

เศรษฐกิจ

ชะเง้อคอย!

บอร์ด กสทช.รักษาการ

จบปมร้อน…อุ้มทีวีดิจิตอล/ประมูลคลื่น 1800

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงที่เกี่ยวเนื่องกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กลับมาคึกคักอีกครั้ง
เรื่องหนึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหากรรมการ กสทช. เพื่อตัดปัญหาทั้งหมด
เนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครกรรมการ กสทช. เข้ามาจำนวนมาก
และไม่แน่ใจว่า หากสรรหาใหม่แล้วปัญหาเหล่านั้นจะกลับมาอีกหรือไม่
ทั้งยังไม่มั่นใจว่า จะสามารถสรรหาผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช. ได้ภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่!!
จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า
1. ยกเลิกกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคล ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. ที่ดำเนินการไปก่อนวันประกาศคำสั่ง และระงับกระบวนการสรรหาที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ จนกว่าหัวหน้า คสช. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
2. ให้กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามความจำเป็นไปพลางก่อน หากกรรมการคนใดต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุก็ตาม ให้กรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าหัวหน้า คสช. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
นอกจากนี้ คสช. ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการสรรหากรรมการ กสทช. เมื่อพิจารณาจนได้ทางออกแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งหัวหน้า คสช. เพื่อดำเนินการต่อไป

จากเรื่องนี้ ทำให้หลายฝ่ายพากันจับจ้องทุกการขยับเขยื้อนของบรรดา 7 กรรมการ กสทช.รักษาการ ที่อยู่ในช่วงเวลานี้ ประกอบด้วย พล.เอ.สุกิจ ขมะสุนทร รักษาการประธาน พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อันเป็น กสทช.ชุดแรกอย่างเป็นทางการที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน และยังไม่มีกำหนดแน่ชัดว่าจะยุติหน้าที่เมื่อไหร่!!
ภารกิจสำคัญของ กสทช.ชุดรักษาการ ขณะนี้คือ มติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ประกาศเดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ในราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท ซึ่งจะจัดการประมูลในวันที่ 4 สิงหาคม 2561

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

เบื้องต้น “ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ” เลขาธิการ กสทช. ประกาศถึงโรดแม็ปประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ไว้ว่า กรอบเวลาการเตรียมการประมูล สำนักงาน กสทช. จะนำประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้
จากนั้นจะประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลและเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน รวมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-14 มิถุนายน 2561
และกำหนดการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 กสทช. กำหนดจะพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรกระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน-31 กรกฎาคม 2561
หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูล
“จะเปิดให้เคาะราคาในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 เพื่อให้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 กันยายน 2561 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหาย”

การเดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ โดยหลักการแล้ว กสทช. ต้องทำให้ทุกวิธีเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงต้องสร้างความมั่นใจที่จะให้ประชาชน และผู้ใช้บริการได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในการใช้บริการโครงข่าย
แน่นอนว่า การเดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ มีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ที่ กสทช. จะเดินหน้า เช่น ท่าทีของ “ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ออกมาแสดงถึงความกังวลต่อมติของ กสทช. ที่กลับไปใช้แนวทางเดิมสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ยกประเด็นต่างๆ ที่สื่อให้รู้ว่า จะไม่ส่งผลดีอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายสร้างประเทศไทย 4.0 ในส่วนการประมูลคลื่นความถี่ความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์
ซึ่งสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ คือ จะเปิดประมูลจำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ รวม 45 เมกะเฮิร์ตซ์ ภายใต้สูตร N-1 (N = จำนวนผู้เข้าประมูล) กล่าวคือ จำนวนใบอนุญาตต้องน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 ใบเสมอ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี พร้อมกับกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ในครั้งล่าสุด และกำหนดราคาขั้นต่ำในการเคาะราคาการประมูลแต่ละครั้งคือ 75 ล้านบาท และกำหนดหลักทรัพย์ค้ำประกันการประมูล (แบงก์การันตี) เท่ากับ 1,873 ล้านบาท
เมื่อถึงประมูลจริง…ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่า ราคาจริงที่เอกชนยอมจ่ายชิงคลื่น จะโอนอ่อนไปตามที่ กสทช. คาดหวังไว้ และชิงราคากันถล่มทลายอีกครั้งหรือไม่!!!

ทว่ายังมีอีกเรื่องที่สังคมต้องจับตาดูกันต่อไป คือ จนป่านนี้ ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุไว้เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ว่า อีกประมาณ 2-3 วัน จะใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะได้รับการพักชำระหนี้ 3 ปี และต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
2. กสทช. จะสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) สัญญาณทีวีดิจิตอลไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าเช่าที่ต้องชำระ โดยจะสนับสนุนเป็นเวลา 24 เดือน
และ 3. อนุญาตให้โอนเปลี่ยนมือใบอนุญาตได้
ในวงการอย่าง “สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ก็ออกมาเปรย และดูว่าจะความคืบหน้าในเร็วๆ นี้ หรือทำได้เพียงรออย่างเดียว
“หากมองดูระยะเวลาเดิม ที่ต้องมีการจ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ แม้จะยังพอมีเวลาอยู่ และคงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้ เมื่อมีการแถลงมติออกมาอย่างนั้น จึงทำได้เพียงรออย่างเดียว และหากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ประกอบการก็ยินดีให้ความร่วมมือ แต่ตอนนี้คิดว่าคงไม่มีการเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ เนื่องจากเลยขั้นตอนนั้นมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการใช้มาตรา 44 ในเร็วๆ นี้หรือไม่ รู้เพียงว่าในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และหลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรา 44 แล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำเรื่องต่อ กสทช. อีก คล้ายการขอเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องให้เวลาในเรื่องนั้นด้วย”
เมื่อหันไปขอความชัดเจนจากปาก “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ก็ได้ความคืบหน้าเพียง “ขออนุญาตไม่ตอบ คงต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกครั้ง ถ้าผมบอกว่า ตอบไม่ได้ ก็คือ ตอบไม่ได้ เข้าใจผมใช่ไหมว่า ตอบไม่ได้ ความจริงผมอยากจะตอบให้นะ แต่ตอบไม่ได้ ไม่ตอบ ไม่ตอบ”
เช่นเดียวกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุเพียง
“ยังไม่ทราบถึงความคืบหน้าในการออกคำสั่งตามอำนาจมาตรา 44 และตอบไม่ถูกว่าจะมีการออกคำสั่งนี้เมื่อไร แต่เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของ คสช. แล้ว”

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การทำหน้าที่ของ 7 รักษาการ กสทช. ในช่วงต่อจากนี้ จะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหนกับเรื่องสำคัญๆ ที่รอการตัดสินใจ โดยไม่สามารถรอ กสทช.ชุดใหม่เข้ามา นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว อาทิ การเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ จากระบบอะนาล็อกเดิม มาเป็นระบบดิจิตอลที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ที่เมื่อ กสทช. ได้รับคลื่นอะนาล็อกกลับคืนมาทั้งหมด กสทช. จะนำไปใช้ทำอะไรต่อไปหลังจากนี้
อีกทั้งการที่ กสทช. มีมติให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ จนกว่าผลการทดลองภาคสนาม (Field Trial) สำหรับการป้องกัน การรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบคมนาคม ขนส่งทางราง ย่านความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ และการพิจารณาความเหมาะสมกรณีกระทรวงคมนาคมขอทบทวน การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางรางจะแล้วเสร็จ เป็นต้น
อีกเรื่องหนึ่งที่คงชะเง้อกันจนคอเคล็ด!!