รวมข่าวเศรษฐกิจ : ธปท.ส่งซิกแบงก์ควบรวมหนุนแข่งขัน / ขุนคลังโต้ กม.จัดซื้อลงทุนรัฐไม่อืด / รฟม.พร้อมเดินรถไฟสีเขียวถ้า “กทม.” ยึกยัก

รฟม.พร้อมเดินรถไฟสีเขียวถ้า “กทม.” ยึกยัก

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการโอนย้ายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลแทน รฟม. ว่า ได้ข้อสรุปให้ กทม. เร่งรัดการโอนหนี้สินค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วง โดยผู้แทน กทม. ที่ประชุมครั้งนี้แจ้งว่าจะผลักดันต่อที่ประชุมสภา กทม. ในเดือนพฤษภาคมนี้อย่างเต็มที่ และจะแจ้งให้กระทรวงคมนาคมรับทราบโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม หากยังไม่ได้ข้อสรุปจากสภา กทม. รฟม. ก็พร้อมจะเดินรถเองโดยเสนอแผนเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการเพื่อเปิดบริการเดือนธันวาคมนี้ให้กระทรวงคมนาคมแล้ว

โดย กทม. จะต้องรับผิดชอบคืนค่าก่อสร้างให้ รฟม. แบ่งเป็น ค่าโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท และค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลและระบบเดินรถ (อีแอนด์เอ็ม) ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดให้ชำระตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป และต้องชำระคืนค่างานทั้งหมดในปี 2585

ธปท.ส่งซิกแบงก์ควบรวมหนุนแข่งขัน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เป็นจังหวะดีที่ธนาคารพาณิชย์จะควบรวมกิจการ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการเพื่อขจัดอุปสรรคของการควบรวมกิจการ ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ จูงใจให้ธนาคารมีการควบรวมกัน ซึ่งมาตรการนี้ใช้ได้จนถึงปี 2565 เพราะเป็นมาตรการจูงใจจึงต้องมีการจำกัดเวลา ส่วนสาเหตุที่รัฐหนุนให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกัน เพราะจะทำให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้บริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น และหากธนาคารพาณิชย์ไทยมีขนาดใหญ่ไม่มากพอจะเป็นข้อจำกัดในการให้บริการธุรกิจไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศได้ ส่วนธนาคารใดจะควบรวมหรือไม่ หรือใครจะควบกับใคร ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินจะพิจารณา

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการควบรวมของธนาคารเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีขนาดใหญ่และแข็งแรง เมื่อเกิดปัญหาหรือวิกฤตการเงินจะได้รับผลกระทบไม่มากและยังอยู่รอดได้ ส่วนจะมีการควบรวมเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้ไม่เห็นสัญญาณการบีบบังคับให้เกิดขึ้น

เบรก ทล.เรียกค่าเสียหาย กทพ.ด่วนด้านใต้

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงผลการประชุมหาข้อสรุปเรื่องการบริหารจัดการจัดเก็บค่าผ่านช่วงทางหลวงพิเศษถนนกาญจนาภิเษก (ถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้) ช่วงพระราม 2-สุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน ระหว่าง ทล. กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ กทพ. เป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทางตามเดิม โดยขอให้ ทล. และ กทพ. ไปหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางว่าจะคิดในอัตราเท่าใด เพราะ ทล. จะต้องจ้าง กทพ. จัดเก็บค่าผ่านทาง รวมทั้งให้ไปเร่งหาข้อสรุปเรื่องการจัดแบ่งรายได้ว่าจะแบ่งกันอย่างไร เบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทางปีละ 50 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ ทล. จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการจัดเก็บค่าผ่านทางกับ กทพ. ซึ่งทำให้ ทล. ไม่สามารถเริ่มจัดเก็บรายได้ตั้งแต่ปี 2552 รวมเป็นเงินรายได้ที่ ทล. สูญเสียไปทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท ประมาณปีละ 600 ล้านบาทนั้น ที่ประชุมมองว่าเส้นทางดังกล่าวยังไม่มีการเปิดจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นทางการ ดังนั้น ถือว่า ทล. ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น จึงไม่สามารถเรียกร้องขอชดเชยรายได้

สสว.ผนึก 15 เว็บขายสินค้าราคาบาทเดียว

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้จัดแคมเปญเอสเอ็มอี 1 บาท โดยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคัดเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่ายบนเว็บไซต์ที่ร่วมกับ สสว. 15 แห่ง อาทิ shopee, lazada, lnwmall, weloveshopping, 11street, thailandmall, smesiam, buzzebees, shopseason, beautynista, pinsouq,tarad.com, far-e, Lalamove, และ shippop ในราคา 1 บาท ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-1 กันยายน 2561 ซึ่งราคาสินค้าดังกล่าวจะไม่เกิน 3,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยขยายตลาดเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการมากกว่า 50,000 ราย และมีสินค้าประมาณ 100,000 รายการ จะมีทั้งของใช้ ของกิน เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าบริการต่างๆ ที่พัก โรงแรม คาดว่าปีนี้จะสร้างยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 650 ล้านบาท

ขุนคลังโต้ กม.จัดซื้อลงทุนรัฐไม่อืด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกรณีธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ของไทยอาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของรัฐบาล ว่า ขณะนี้การทำสัญญางบฯ ผูกพันการลงทุนของภาครัฐสามารถทำได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก แม้ยอดการเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนยังต่ำกว่าเป้าหมาย แสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐกับเอกชน แต่ทำขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง นำแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากลจากประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนที่เป็นปัญหาก็มีคณะกรรมการช่วยแก้ไข

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะการดำเนินงานในเชิงธุรกิจ กระทรวงการคลังอนุญาตให้ใช้ระเบียบการเบิกจ่ายของตนเองที่อิงระเบียบการเบิกจ่ายกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ได้