“บุญรอดฯ” ธุรกิจดั้งเดิมปรับตัวได้ เห็นด้วย “สุราก้าวหน้า”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

 

รัฐบาลใหม่ที่เป็นไปได้ เชื่อว่าจะมากับแนวนโยบาย ในมิติการปรับโครงสร้างสังคมธุรกิจไทย

อย่างที่ว่าไว้ในตอนที่แล้ว แม้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่คงให้ภาพสะท้อน “ตัวแทน” กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ด้วยพลังขยับเขยื้อนครั้งสำคัญ โดยเฉพาะกรณีอ้างอิงธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ก้าวข้ามผ่านไปอีกยุค

ในทันที มีเสียงค่อนข้างดัง ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ชวนให้ตื่นเต้น

เสียงจากผู้เกี่ยวข้องสำคัญ ผ่านสื่อสังคม กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง อ้างบทสนทนา ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้บริหารรุ่นที่ 4 ตระกูลภิรมย์ภักดี เจ้าของธุรกิจผลิตเบียร์รายใหญ่ กับตำนานคลาสสิคสังคมธุรกิจไทย

เขาโพสต์ (ใน Facebook ส่วนตัว เมื่อ 19 พฤษภาคม 2566) ภาพฝูงชนให้การต้อนรับขบวนแห่ขอบคุณของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ด้วยคำบรรยายสั้นๆ ว่า “มิติใหม่ครับ”

สาระสำคัญเจาะจงกว่านั้น เกี่ยวเนื่องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ กับนโยบาย “สุราก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล โดยได้มีการผลักดันมาพักใหญ่ๆ จนจะใกล้สำเร็จ “เห็นด้วยมาตั้งแต่เริ่มต้น” ปิติ ภิรมย์ภักดี กล่าวอย่างหนักแน่น และต่อภาพเป็นความคาดหวังกว้างขึ้น “เรื่องสุราก้าวหน้า ผมว่าเรื่องเล็ก เทียบกับความคาดหวังจากสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นครับ” ส่วนที่เกี่ยวกับบุญรอดบริวเวอรี่ มีบางตอนขยายความไว้ด้วย

“…การค้าเสรี เรามีคู่แข่งมาตลอด ก็ต้องปรับแผนกันไป และบุญรอดก็มีธุรกิจอื่นๆ นอกจากเบียร์ด้วยครับ”

“ภิรมย์ภักดี รุ่นที่ ๒”  ประจวบ วิทย์ และจำนงค์ ภิรมย์ภักดี

ปฏิกิริยา และท่าทีข้างต้น นอกจากเชื่อว่ามาจาก “ตัวแทน” กลุ่มธุรกิจเก่าแก่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว หากให้ภาพสำคัญ เป็นกรณีอ้างอิง ว่าด้วยธุรกิจใหญ่ไทย กับความสามารถในการปรับตัว ด้วยบทเรียนหลายต่อหลายช่วงเปลี่ยนผ่าน เกือบศตวรรษที่ผ่านมา

เรื่องราวเปิดฉากธุรกิจเบียร์ไทย ด้วยตำนานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ธุรกิจครอบครัว ตระกูลภิรมย์ภักดี กับ “เบียร์สิงห์” ตั้งแต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แม้ว่าเผชิญกระแสลมเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ แต่สามารถผูกขาดธุรกิจอยู่นานกว่า 60 ปี

ขณะเดียวกัน ภิรมย์ภักดี กลายเป็นตระกูลธุรกิจเก่า สามารถสะสมความมั่งคั่งอย่างมั่นคง หากย้อนไป 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ลองหาอ่านข่าวย้อนหลังในช่วงนั้น เกี่ยวกับกรมสรรพากรนำเสนอรายงานอันดับต้นผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดามากที่สุดในประเทศไทย จะพบว่า คนในตะกูลภิรมย์ภักดีหลายคนอยู่ในลิสต์

การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันอย่างแท้จริง มีขึ้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง สมัย อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ (ปี 2534) คู่แข่งทางธุรกิจรายสำคัญปรากฏขึ้น-มาจากตระกูลธุรกิจ “หน้าใหม่” ในยุคสงครามเวียดนาม

รวมทั้งการทยอยเข้ามาในไทย โดยเบียร์แบรนด์ระดับโลกหลากหลาย

 

บุญรอดบริวเวอรี่ เผชิญสถานการณ์สั่นไหวในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยอีกด้วย

ช่วงปี 2538-2540 เบียร์สิงห์ได้สูญเสียฐานะผู้นำตลาด ถือเป็นการก้าวเข้าสู่อีกยุค แทบไม่ทันตั้งตัว เผชิญการแข่งขันอย่างเข้มข้นกับเบียร์ช้าง

เป็นบทเรียนอันซับซ้อนยิ่งขึ้น จากการผูกขาดด้วยตนเอง สู่การเผชิญหน้ากับธุรกิจในโมเดลตกค้างจากการผูกขาดสุรา ด้วยระบบการขายพ่วง

แต่ในที่สุด ตระกูลภิรมย์ภักดี กับบุญรอดบริวเวอรี่ สามารถประคับประคองไม่ให้เข้าไปอยู่วงจรแห่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 วงจรซี่งเปิดฉากด้วยการปิดกิจการสถาบันการเงินจำนวนมาก ท่ามกลางภาวะล่มสลายทางธุรกิจที่รวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบกว้างและลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับตระกูลธุรกิจเก่าทรงอิทธิพลหลายตระกูล ว่าไปแล้วบางตระกูลตั้งหลักตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เช่นเดียวกับตระกูลภิรมย์ภักดี

แรงกระทบครั้งนั้น มาถึงแกนกลางสังคมธุรกิจไทย มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของระบบธนาคารพาณิชย์ ส่งผลกระทบเชิงทำลายรากฐานธุรกิจเดิม จากธนาคารขนาดกลางและเล็ก ไปจนถึงเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม ว่าเฉพาะธุรกิจครอบครัวซึ่งก่อตั้งมานานเกือบศตวรรษ

บุญรอดบริวเวอรี่ กับตระกูลภิรมย์ภักดี คงเป็นหนึ่งในไม่กี่ราย สามารถเอาตัวรอด คงเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ อยู่กับธุรกิจดั้งเดิม ขยายตัวอย่างช้าๆ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ตราสินค้า “เบียร์สิงห์”

หากพิเคราะห์เจาะจง บุญรอดบริวเวอรี่กับประสบการณ์ธุรกิจเบียร์มายาวนาน สามารถปรับตัวจากแกนกลางธุรกิจ ให้กลับมาเป็นผู้นำธุรกิจเบียร์ในไทยอีกครั้ง ด้วยการผลิตสินค้าใหม่ๆ ตอบสนองภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง ไม่เพียงสะท้อนความสามารถในการแข่งขัน หากเป็นแผนการขยายตลาดให้กว้างขึ้นกว่าเดิม กว่ายุคผูกขาด ส่วนแบ่งในภาวะตลาดที่มีการแข่งขันน้อยราย เพิ่มขึ้น

คาดกันว่า ตลาดเบียร์ในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท ภายใต้โครงสร้างตลาด มีเบียร์ไทยหลักๆ 2 ราย (หลายแบรนด์) ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด

“อุตสาหกรรมเบียร์ ตลาดในประเทศถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่ 2 ราย คือ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ …และ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ… ซึ่งมีศักยภาพในการดำเนินกิจการสูง มีความได้เปรียบด้านเงินทุน และมีการกระจายสินค้าผ่านช่องทางจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันทั้งสองรายมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 93% ของปริมาณจำหน่ายเบียร์ในประเทศ” (อ้างอิงงานวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง “แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2565-2567 : อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม” 1 กุมภาพันธ์ 2565)

พอจะคาดได้ว่า รายได้บุญรอดบริวเวอรี่ ด้วยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเบียร์ ควรมากกว่า 1 แสนล้านบาทในแต่ละปี

 

ที่น่าสนใจอีกช่วง ผ่านมาเกือบศตวรรษ ภายใต้แกนกลางธุรกิจครอบครัว บุญรอดบริวเวอรี่ได้ปรับตัวครั้งใหญ่ ขยับขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างจริงจังครั้งแรก เชื่อกันว่า ด้วยความเชื่อมั่นกับบริบททางการเมืองไทย เมื่อกว่า 8 ปีที่แล้ว และดูเหมือนเป็นไปตามกระแสธุรกิจใหญ่หลายรายในเวลานั้น

ปี 2557 ในช่วงเวลาฉลองครบรอบ 8 ทศวรรษ บุญรอดบริวเวอรี่ กับช่วงเวลาสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง (22 พฤษภาคม 2557) ได้มาซึ่งรัฐบาลทหารสืบเนื่องมา “ก่อตั้งบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ด้านอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ได้เริ่มขยายธุรกิจไปทางด้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ และธุรกิจพลังงานด้วยเช่นกัน” (http://www.boonrawd.co.th เคยบันทึกไว้) ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการซึ่งจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า Backdoor Listing และทำการซื้อขายหุ้นตามปกติอีกครั้ง เมื่อ 26 กันยายน 2557

การขยับขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ให้ภาพบุญรอดบริวเวอรี่เปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องและเป็นไปตาม ปิติ ภิรมย์ภักดี ว่าไว้ “…บุญรอดก็มีธุรกิจอื่นๆ นอกจากเบียร์”

จังหวะและโอกาสทางธุรกิจด้วยมุมมองโลกในแง่ดี ตามด้วยแผนการเชิงรุกทางธุรกิจในช่วงต้นๆ แต่สถานการณ์กลับไม่ค่อยเป็นใจ มีปัจจัยลบถาโถม โดยเฉพาะเริ่มต้นวิกฤตการณ์ระดับโลก – COVID-19 กับ Great lockdown จนถึงสงครามยูเครน-รัสเซีย ผลประกอบการกิจการในตลาดหุ้นที่ผ่านมาไม่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาหุ้นค่อนข้างตกต่ำ

แม้ว่าจะยังมีความคลุมเครือช่วงเปลี่ยนผ่านสั้นๆ อีกช่วง แต่เชื่อว่าคงค่อยๆ คลี่คลายไปในไม่ช้า •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com