ซีพีเอฟ สร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน จาก “โครงการเลี้ยงไก่ไข่” สู่ BKS BAKERY

“เค้กไข่ลาวา” จากฝีมือของน้องๆ โรงเรียนบ้านโคกสูง จังหวัดนครราชสีมา ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ (Learning by doing) ในโครงการ BKS BAKERY หรือ “บ้านโคกสูง เบเกอรี่” ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตและทักษะอาชีพ ให้กับนักเรียนของโรงเรียนในโครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา (Connext ED) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในฐานะภาคเอกชนที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ ให้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เมื่อปี 2562 ต่อยอดสู่การทำโครงการ BKS BAKERY ซึ่งใช้วัตถุดิบไข่ไก่ที่โรงเรียนผลิตได้เอง เรียกได้ว่าทั้งสองกิจกรรมที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุน เป็นการส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน ฝึกทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้นักเรียน และสร้างวินัยในการเก็บออมเงินตั้งแต่วัยเยาว์

สำหรับ โรงเรียนบ้านโคกสูง เป็นโรงเรียนขนาดกลาง จำนวนนักเรียน297 คน นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และอีกส่วนหนึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ เป็นการย้ายตามผู้ปกครองที่เข้ามาประกอบอาชีพ เช่น ก่อสร้าง รับจ้าง ซึ่งในปี 2563 โรงเรียนฯ ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ โดยได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมการเรียนรู้จากซีพีเอฟ ส่งมอบโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิด รวมถึงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการโรงเรือน ตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล เป็นแหล่งในการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับทางโรงเรียนและชุมชน เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางอาชีพในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน โรงเรียนฯ สามารถดำเนินโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ได้อย่างต่อเนื่องด้วยเงินหมุนเวียนจากการขายผลผลิตไข่ไก่ มีแม่ไก่ที่ลงรอบใหม่ 144 ตัว เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้ประมาณ 4 – 5 แผงต่อวัน

ล่าสุด ปี 2565 ซีพีเอฟให้การสนับสนุนโครงการ BKS BAKERY ของโรงเรียนบ้านโคกสูง เป็นโครงการต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตไข่ไก่ แปรรูปเป็นเบเกอรี่ อาทิ เค้กไข่ลาวา เค้กช็อกโกแล็ต เค้กส้ม ซอฟต์คุกกี้ ฯลฯ เป็นการถ่ายทอดทักษะการประกอบอาชีพให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 รวมทั้งจะบรรจุโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่และ BKS BAKERY ในชั่วโมงการเรียนการสอนของนักเรียนด้วย

BKS BAKERY ยังเป็นโครงการที่เสริมสร้างรายได้ระหว่างเรียนและแบ่งเบาภาระของครอบครัว โดยที่ชุมนุม BKS BAKERY มีการแบ่งผลผลิตไข่ไก่จำนวน 15 ฟอง มาใช้เพื่อทำเบเกอรี่จำหน่ายทุกวันอังคาร อาทิ เค้กไข่ลาวา เค้กช็อกโกแล็ต เค้กส้ม ซอฟต์คุกกี้ เป็นต้น มีทั้งทางขายผ่านร้านสหกรณ์โรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง ตลาดนัดในชุมชน ช่องทางการขายฝากร้านค้าและขายออนไลน์ เช่น ร้านค้าในชุมชน ร้านค้าตลาดสด ร้านค้าตลาดนัด เพจเฟซบุ๊กของโรงเรียน ในราคาจำหน่ายเค้ก 15 บาท / ชิ้น ซอฟต์คุกกี้ 5 บาทต่อชิ้น และมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับทางร้าน 20% โดยตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งโครงการ BKS BAKERY เมื่อเดือนกันยายน 2565 จนถึงกุมภาพันธ์ 2566 มียอดรายรับจากการขายเบเกอรี่รวมกว่าหมื่นบาท

นายเอนก รั้งกลาง อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ และ BKS BAKERY ของ รร.บ้านโคกสูง กล่าวว่า ทั้งสองโครงการซึ่งเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ เป็นการฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนที่สามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริงไปใช้ และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน ปลูกฝังความมีวินัยในการเก็บออม จากการที่เด็กๆ จะได้รับส่วนแบ่งค่าตอบแทนจากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่ และจากรายรับในการจำหน่ายเค้กไข่ลาวาและซอฟต์คุ้กกี้
“โรงเรียนคาดหวังว่า BKS BAKERY จะช่วยพัฒนาทักษะ ความรับผิดชอบของเด็กนักเรียน ได้เรียนรู้ว่าตนเองมีความชอบในเรื่องใด” คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าว

ด.ญ.นันทิตา อินกลาง นักเรียนชั้น ป.5/1 กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากโครงการ คือ ได้ทำขนมเค้กไข่ลาวา ได้ฝึกทำซอฟต์คุกกี้ได้ฝึกขายให้กับน้องๆ เพื่อนๆ ในโรงเรียน หนูชอบตอนที่ครูให้ทำแต่งหน้าเค้ก เพราะได้ฝึกสร้างสรรค์หน้าเค้กด้วยตัวเองกับเพื่อน ฝึกการพูดวิธีการทำเค้ก รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงเดินหน้าร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียน ตามเป้าหมายของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี สร้าง “เด็กดี เด็กเก่ง”และมุ่งมั่นมีส่วนร่วมส่งมอบโอกาสให้กับเด็กไทยในพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปี 2566 ซีพีเอฟ มีแผนสนับสนุนโครงการฯ ทั้งด้านวิชาการ และวิชาชีพ โดยปัจจุบัน มีโรงเรียนในโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ในความดูแลของซีพีเอฟรวมทั้งสิ้น 297 โรงเรียน ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสระบุรี