ธุรกิจใหม่ เอสซีจี

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เอสซีจี กับการปรากฏร่องรอยก่อตัวกลุ่มธุรกิจใหม่อย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรกในรอบ 4 ทศวรรษ

เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กับจังหวะและโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่แตกต่างไปจากอดีต โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับกรณีก่อนหน้า ในรอบ 110 ปีก็ว่าได้

โดยเฉพาะพิจารณาเปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจล่าสุดของเอสซีจี “การเข้าสู่ธุรกิจใหม่…เป็นจุดตั้งต้นอย่างเป็นกระบวนการ…สอดคล้องกับแผนการและนโยบายรัฐ…ในยุค ‘โชติช่วงชัชวาล’ สืบเนื่องตั้งแต่การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (2516)…เคมีภัณฑ์ คือธุรกิจเยาว์วัยที่สุดซึ่งเดินทางมาครบ 4 ทศวรรษ…หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2542 กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เริ่มมีบทบาทโดดเด่น สร้างรายได้และกำไรได้มากกว่าธุรกิจซีเมนต์ธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งก่อตั้งมานานกว่าศตวรรษ” อย่างที่เคยว่าเกี่ยวกับปฐมบท เอสซีจีเคมีคอลล์ (SCGC) เมื่อไม่นานมานี้ (ส่วนหนึ่งจากข้อเขียนของผม หัวข้อ “ครึ่งศตวรรษเอสซีจียุคใหม่” มีนาคม 2566)

ร่องรอยเพิ่งปรากฏขึ้นใหม่ในปัจจุบัน เข้ากับห้วงเวลาสำคัญของเอสซีจี องค์กรธุรกิจเก่าแก่เดินทางมาไกลจนถึง 110 ปีพอดี ผ่านจังหวะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการบริหารครั้งสำคัญครั้งหนึ่งอย่างน่าสังเกต เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัทในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ผู้จัดการใหญ่คนใหม่ในสิ้นปีนี้

“เอสซีจีรุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล ด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid โดยในปี 2565 เอสซีจีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งภายในและภายนอกบริษัทรวม 234 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากปีก่อน อีกทั้งลงทุนในนวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Heat Battery) หรือ Thermal Energy Storage ไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดดและมุ่งพัฒนาพลังงานชีวมวลคุณภาพสูง (Biomass และ Biocoal) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงจากขยะ (Refused Derived Fuel : RDF) เป็นพลังงานทางเลือก” สาระซึ่งปรากฏใน “สารจากคณะกรรมการ” (ลงนามโดย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ และ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่) ในรายงานประจำปีล่าสุด (2565) สามารถอรรถาธิบายร่องรอยธุรกิจใหม่อย่างเห็นภาพ ในหัวข้อ “รุกธุรกิจพลังงานสะอาด (Energy Transition Solutions) ลดต้นทุน มุ่ง Net Zero” เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้

มีสาระอีกบางตอน อรรถาธิบายขยายความธุรกิจใหม่อย่างครอบคลุม

“เข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดครบวงจร ภายใต้แนวคิด Smart Clean Mobility เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อีกทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการครอบคลุมในด้านต่างๆ ได้แก่ EV Fleet Solution ตั้งแต่การจัดหายานยนต์ไฟฟ้า ประกันภัย ซ่อมบำรุง EV Charging Solution สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงให้บริการรูปแบบการเช่า ขนส่งสินค้า และรับ-ส่งพนักงาน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ”

 

ขณะล่าสุด (อ้างอิง presentation ในงาน NDR in U.S. & Canada hosted by J.P. Morgan (May 1st – May 4th 2023) ” มีหัวข้อสำคัญตั้งใจนำเสนอ เรียกว่า “การขยายธุรกิจใหม่” (New business expansion)

ว่าไปแล้วเรื่องราวธุรกิจใหม่ ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2565) ด้วยความเคลื่อนไหวต่อเนื่องกัน 2 กรณีที่สำคัญที่น่าสนใจ

กรณีแรก – เอสซีจีมีการลงทุนใน Rondo Energy แห่งสหรัฐอเมริกา ในฐานะธุรกิจ Start-Up อย่างที่ขยายความสั้นๆ ไว้อ้างไว้ในตอนต้นๆ “ลงทุนในนวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Heat Battery)” ทั้งปรากฏเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญ รายงานอย่างสอดคล้องกัน โดย Rondo Energy (Siam Cement Group and Rondo Energy Announce Investment and Plan Partnership to Bring Zero-Carbon Heat to New Industries and New Territories. อ้างจาก https://rondo.com/ 28 กันยายน 2565)

อีกกรณีถัดมาเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เอง อ้างอิงเอกสารเอสซีจีแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (7 เมษายน 2566) เรื่อง “การได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกับรัฐบาลของกลุ่มบริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด” สาระสำคัญ กล่าวถึง “บริษัทย่อยจำนวน 5 บริษัทในกลุ่มของบริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด (หรือ ‘SCG Cleanergy’) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมด ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับรัฐบาล”

ทั้งนี้ เป็นงบฯ การลงทุนเป็นชิ้นเป็นอัน ด้วยทั้ง 5 บริษัท มีทุนจดทะเบียนรงมกันกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 367 เมกะวัตต์ โดยมีเพียงบริษัทเดียวที่เอสซีจีถือหุ้น 100% ที่เหลืออีก 4 บริษัทเป็นกิจการร่วมทุน กับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRI สัดส่วน 60/40

BGRI ถือว่าอยู่ในเครือข่ายธุรกิจ ที่มีรากฐานในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รัชสมัย ร.5 “ในปี พ.ศ.2421 หรือ ค.ศ.1878 ชาวยุโรปสองท่าน… เภสัชกรชาวเยอรมันชื่อ แบรนฮาร์ด กริม …กับหุ้นส่วนชาวออสเตรียชื่อ แอร์วิน มุลเลอร์ ได้เดินทางมายังประเทศไทยและก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ถนนโอเรียนเต็ล ห้างนี้ชื่อว่าสยามดิสเปนซารี่ ถือเป็นร้านยาในรูปแบบแพทย์สมัยใหม่แห่งแรกในประเทศไทย” (https://bgrimmgroup.com/th)

แล้วมาถึงจุดเปลี่ยนหนึ่ง “เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2536 โดยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนของประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนเราใช้ชื่อ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และได้มีการก่อตั้งบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ในเวลาต่อมา” (https://www.bgrimmpower.com/th) กิจการเป็นไปคึกคักมากขึ้น หลังจากเข้าตลาดหุ้น (ปี 2560)

มีโครงการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้อง และใด้รับความสนใจเป็นพิเศษ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีขนาดใหญ่ ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ซึ่งถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย” ข้อมูล BGRI ว่าไว้เมื่อไม่กี่ปีมานี้

 

ว่าด้วยการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ข้างต้น มีแบบแผนหนึ่งมีส่วนคล้ายกับการเริ่มต้นธุรกิจเคมีภัณฑ์ การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยี ขณะบางมิติธุรกิจใหม่ครั้งนี้ที่แตกต่าง เชื่อว่าผ่านกระบวนการขบคิดใช้เวลาพอสมควร ถือว่าไม่ได้อยู่ในขบวนผู้บุกเบิกเสียทีเดียว หากรอเวลาจนมองเห็นภาพชัด มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจหลักของเอสซีจี ท่ามกลางภาพใหญ่ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีทิศทางการพัฒนา มีช่องและทางแยกที่น่าสนใจเฉพาะตัว

ในทิศทางนั้น มีเส้นทางผ่าน อาศัยกลไกและความสัมพันธ์กับรัฐด้วย เป็นพลังอ้างอิงการเติบโตของธุรกิจหลังงานในภาพกว้างๆ มีทั้งปรากฏตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จ และมีผู้เล่นอ้างอิงหลายราย

เอสซีจีมีมุมมองเฉพาะ สามารถอรรถาธิบาย ภาพเชื่อมโยง แผนการและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของตนเอง เข้ากับสังคมวงกว้าง

“…พันธกิจและกลยุทธ์ของ SCG Cleanergy ที่มีแผนลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย มีเป้าหมายเพื่อให้บริการได้อย่างครบวงจร และตอบสนองการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในการช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emission)” ดังที่ว่าไว้

(เอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ) •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com